“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” แจ้งว่า ในวันที่ 25 มี.ค. 67 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จะร่วมแถลงรายละเอียดถึงแผนการจัดจราจร และมาตรการลดผลกระทบให้ผู้ใช้เส้นทาง เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างขุดเจาะอุโมงค์สถานีสะพานพุทธฯ ของสัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เอ็นดับเบิ้ลยูอาร์ เอ็มอาร์ที เป็นผู้รับจ้าง

รายงานข่าวแจ้งว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 67 ได้เริ่มปิดการจราจรฝั่งขาออก บริเวณทางลงสะพานพระปกเกล้า ถึงอนุสรณ์สถานงานสมโภช 100 ปี (วงเวียนเล็ก) และปรับทิศทางการสัญจรบนถนนประชาธิปก และบริเวณทางขึ้นสะพานพระพุทธยอดฟ้า จากขาเข้าเป็นขาออก เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับงานขุดเจาะอุโมงค์ สถานีสะพานพุทธฯ ของสัญญาที่ 3 เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มขุดเจาะอุโมงค์ช่วงต้นปี 68 ซึ่งจะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาประมาณเดือน เม.ย. 68

ในระยะแรกของการเตรียมพื้นที่สำหรับงานขุดเจาะอุโมงค์นั้น เริ่มตั้งแต่การนำแบริเออร์กั้นพื้นที่ และการเตรียมชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในการก่อสร้าง ตลอดจนงานขุดดิน งานขนย้ายดิน จากนั้นจะนำเอาหัวเจาะมาประกอบ ก่อนที่จะเริ่มทำการขุดเจาะอุโมงค์ อย่างไรก็ตาม อุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ถือเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งที่ 2 ของไทย หลังจากก่อนหน้านี้ มีการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยาของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ระหว่างสถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ ซึ่งมีความลึกจากผิวดิน (พื้นถนน) ประมาณ 30 เมตร

อุโมงค์ที่สถานีสะพานพุทธฯ จะมีลักษณะเดียวกับอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาของรถไฟฟ้า MRTสายสีน้ำเงิน จำนวน 2 อุโมงค์ (ไป-กลับ) ถือเป็นอุโมงค์ตัวที่ 3 และตัวที่ 4 ของไทยที่ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอุโมงค์มีความลึกจากผิวดิน ประมาณ 40 เมตร ลึกกว่าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เพราะแนวอุโมงค์ต้องลอดผ่านย่านชุมชน ทั้งนี้ ช่วงอุโมงค์ที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวเท่าช่วงความกว้างของแม่น้ำฯ ประมาณ 200 เมตร แต่ละอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ซึ่งทั้ง 2 อุโมงค์ อยู่ห่างกันประมาณ 10 เมตร คาดว่าการขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 15 วัน สำหรับภาพรวมงานก่อสร้างสัญญา 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธฯ ปัจจุบันมีความคืบ 25.32% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ต.ค. 70 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับการจัดจราจรในระหว่างการก่อสร้างนั้น รฟม. ได้ร่วมหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-30 พ.ค. 67 จะมีการจัดการจราจร 2 รูปแบบ ดังนี้ การจราจรรูปแบบที่ 1 ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 67 ซึ่งวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 19.01-15.59 น. (ของวันถัดไป) และวันเสาร์-วันอาทิตย์ (ตลอดวัน) ถนนประชาธิปกฝั่งขาออก จะปิดจราจร 1 ช่องจราจร สามารถสัญจรได้ 2 ช่องจราจร และฝั่งขาเข้า สามารถสัญจรได้ตามปกติ 

ส่วนการจราจรรูปแบบที่ 2 เริ่มวันที่ 25 มี.ค.67 วันจันทร์-วันศุกร์ ช่วงเวลา 16.00-19.00 น. (เฉพาะเวลาเร่งด่วน) ปิดช่องทางฝั่งขาเข้า จากแยกบ้านแขก ขึ้นสู่สะพานพุทธฯ และปรับทิศทางการสัญจรบริเวณทางขึ้นสะพานพุทธฯ จากขาเข้าเป็นขาออก มีผลให้ฝั่งขาออกสามารถสัญจรได้ 3 ช่องจราจร และฝั่งขาเข้าให้ใช้สะพานประปกเกล้าทดแทน ทั้งนี้ การปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และอาจมีเสียงดังรบกวนพื้นที่บริเวณใกล้เคียงในวันเวลาดังกล่าว ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็น โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง และ รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ ผู้ใช้เส้นทางสามารถสอบถามรายละเอียดการปิดเบี่ยงจราจรได้ที่โทร. 08-0072-6522.