เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 67 นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่ ที่เปลี่ยนมาเป็น “คนรุ่นใหม่ บ้านใหญ่” ว่า ถึงแม้ว่าจะถูกบางฝ่ายมองว่า เรื่องนี้ไม่น่าตื่นเต้น เพราะคนที่เข้ามาก็ลูกหลานบ้านใหญ่แทบทั้งนั้น ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจทางรัฐศาสตร์ 4 ข้อ คือ 1.การให้บทบาทกับลูกหลานบ้านใหญ่ เป็นการต่อยอดจุดแข็งที่มีมาแต่เดิม อาทิ ระบบการดูแลพื้นที่ ซึ่งมีมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นพ่อ รุ่นแม่ มารุ่นลูก ก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้อย่างเต็มที่ เป็นการยึดกุมความได้เปรียบในทางการเมืองระยะยาวของพรรคภูมิใจไทย 2.เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างตระกูลการเมือง

นายโอฬาร กล่าวต่อว่า 3.กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคภูมิใจไทย คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทางการเมืองจริง มีประสบการณ์ทั้งในพื้นที่ ประสบการณ์ตรงจากครอบครัว เข้าใจการเมืองในความเป็นจริง และมีโอกาสทำงานในการเมืองระดับชาติในตำแหน่งต่างๆ มาก่อน ตรงนี้จะแตกต่างจากคนรุ่นใหม่ในหลายพรรคที่สนใจการเมือง แต่ไม่มีโอกาส ไม่มีประสบการณ์ 4.กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ กก.บห.พรรคชุดใหม่ ของพรรคภูมิใจไทย นอกจากมีต้นทุนทางการเมืองจากการเป็นทายาทตระกูลการเมืองบ้านใหญ่ พบว่าทั้งหมดที่เข้ามา เป็นกรรมการบริหารมีประวัติการศึกษาในระดับสูง มีโปรไฟล์ ภาพลักษณ์ที่ดี เป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ ภาพจำใหม่ทางการเมืองของพรรค

“แน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทย มีความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในยุคที่ความเป็นสมัยใหม่ ความคิดแบบสมัยใหม่แทรกซึมเข้ามาในสังคม การเปลี่ยนแปลงของพรรคภูมิใจไทย เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองอื่นประมาทไม่ได้ตรงนี้คือ การผสมผสาน ใหม่ เก่า เข้าด้วยกัน เอาจุดแข็ง และจุดเด่นของพรรคมาบวกกัน ทั้งนี้ ความท้าทายต่อมา คือ NEW GEN ภูมิใจไทย จะขับเคลื่อนพรรคไปในทิศทางไหน จะผสมผสานคนรุ่นหนึ่งกับคนรุ่นหนึ่งอย่างไร และจะดำเนินนโยบายเชิงอุดมการณ์อย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม” นายโอฬาร กล่าว.