เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สกศ. ได้จัดประชุมโครงการการปรับปรุงคุณภาพและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษา (Improving the Quality and use of Education Data) ภายใต้โครงการ Country Programme 2 (CP2) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ ทบทวนประเด็นความท้าทายด้านการศึกษา และนำข้อมูลไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมโดยมี องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ในการยกระดับประเทศไทยให้เท่าเทียมมาตรฐานสากล เพราะเห็นได้จากความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้ 4 เสาหลักของโครงการ Country Programme ระยะที่ 2 หากเรามุ่งพิจารณาเสาหลักที่ 3 ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้ข้อมูลด้านการศึกษาของไทยอาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง หากประเทศไทยมีระบบการจัดการข้อมูลที่มีคุณภาพ จะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาไทยในมิติต่าง ๆ ทั้งโอกาสในการเข้าศึกษา คุณภาพของการศึกษา การลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล อีกประการหนึ่ง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะก่อการร่วมมือ ข้อคิด และข้อเสนอแนะ ซึ่งนำมาสู่กลไกความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างสังกัดภายใต้อุดมการณ์เดียวกันคือการพัฒนาประเทศไทยผ่านการศึกษา

“การประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริม การสนับสนุน และการให้คำแนะนำปรึกษาจากกลุ่มประเทศสมาชิก OECD เพื่อร่วมมือกันพัฒนาสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์ ด้านการจัดการความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการคิดที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและกระบวนการพยากรณ์ด้วยข้อมูลสารสนเทศผ่านการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง (anticipation) เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันตลอดจนทักษะที่จำเป็นสำหรับความเป็นพลเมืองโลก เช่น ทักษะวิชาชีพเฉพาะ ทักษะการดำรงชีวิตในโลกพลวัต เป็นต้น สกศ. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทยผ่านข้อมูลการศึกษา ทุกองค์ความรู้ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ สกศ. จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานโยบายการศึกษา ซึ่งหวังว่าข้อมูลการศึกษาจะเป็นประตูบานใหม่ที่จะเปิดโลกของการวิจัยการศึกษาและพัฒนาการศึกษาไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สกศ. กล่าว

ด้าน Mr. Till Kadereit ผู้แทนจาก OECD กล่าวว่า สำคัญของการใช้ข้อมูลทางการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษาให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนและเหมาะสมกับบริบทของสภาพสังคม สามารถนำข้อมูลเชิงลึกทางการศึกษามาใช้เป็นหลักฐานสำหรับศึกษาคุณภาพและความเท่าเทียมของการศึกษา ตลอดจนจุดประกายแนวคิดใหม่ต่อการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการมีการใช้ Slido แอปพลิเคชันเพื่อสร้างการมีส่วนรวมของการประชุมเชิงปฏิบัติการอีกด้วย

น.ส.จารุศรี จิรวิสิฐกุล จากมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า การศึกษาในประเทศไทยจากการเก็บข้อมูลกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศไทย พบว่าปัจจุบันมีปัญหาการได้รับข้อมูลไม่เพียงพออีกทั้งข้อมูลยังมีความซ้ำซ้อนกันซึ่งในส่วนนี้สอดคล้องกับ ดร.อรรถพล สังขวาสี ที่กล่าวเปิดการประชุมว่า “ข้อมูลของเรามีคุณภาพแต่ในพื้นที่ยังไม่นำไปประยุกต์ใช้เท่าใด จึงทำให้ต้องมาเก็บข้อมูลใหม่” นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทย สำหรับช่วงสุดท้าย ดร.ณัฐพร พรกุณา ผอ.กลุ่มประเมินคุณภาพการศึกษา สพฐ. ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการสอบ RT (Reading Test : RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (NT: National Test) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงการดำเนินงาน โครงสร้าง การรายงานผล และระบบการใช้งาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยทางการศึกษา เนื่องจากสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาการศึกษาไทยให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น