ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ส่งทีมเยาวชนไทยจำนวน 3 ทีม ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จำนวน 2 ทีม และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ The International Festival of Engineering Science and Technology (I-FEST) 2024 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 มี.ค. 2567 ณ สาธารณรัฐตูนิเซีย โดยมีผลงานจากเยาวชนกว่า 400 โครงงานจาก 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันฯ ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ติด Top 10 Award โดยมี 20 ทีม ที่ถูกคัดเลือกสามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 3 มาครอง โดยมี น.ส.พิมพ์แพรวา พุทธรักษ์ขิต, นายภูเบศ เสน่ห์ภักดี และนายภัทรดนย์ ลี้โรจนาประภา และมี ดร.ธนวรรณ ลี้บุญงาม กับ น.ส.พิมพ์ศิริ ด่านพิษณุพันธุ์ เป็นครูที่ปรึกษา จากโครงงาน “การป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวที่เกิดจากสารระเหยโทลูอีนโดยสารสกัดจากใบบัวบกในสัตว์ทดลอง Caenorhabditis elegans” จากการศึกษาเกี่ยวกับสารสำคัญเช่น Asiatic acid, Asiaticoside, Madecassic, Madecassoside ซึ่งมีผลป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบประสาท โดยทำการทดลองในสัตว์ทดลองหนอนตัวกลมชนิด C. elegans ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตต้นแบบการทดลองที่มีศึกษาลักษณะและพฤติกรรมที่สามารถบ่งชี้ได้ถึงการเสื่อมสภาพของระบบประสาท เพื่อทดสอบความสามารถในการป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบประสาทจากการทำลายด้วยสารโทลูอีนด้วยการสังเกตพฤติกรรมผ่านลักษณะการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบบัวบกมีคุณสมบัติในการป้องกันระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวจากการทำลายของโทลูอีนได้

ผอ.NSM กล่าวต่อว่า ขณะที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช ที่มี น.ส.ชนากานต์ แก่นเพชร, น.ส.นภัสนันท์ ปัญจะสุวรรณ์ และนายตอฮาวีย์ ยีส้าและมี นายปัญญาวุฒิ รัตนารมย์ และผศ.ดร.นลินา ประไพรักษ์สิทธิ์ เป็นครูที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัล Top 10 Award จากผลงาน “การเพิ่มมูลค่าเปลือกส้มโอในรูปแบบนาโนอิมัลชันเพื่อใช้เป็นยาสลบสำหรับปลานิล (Oreochromis niloticus Linnaeus, 1758): ผลิตภัณฑ์สูตรใหม่และแอพพลิเคชันมือถือ”โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Essential “Two-in-one” Solution จากการนำเปลือกส้มโอซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งจากการเกษตรที่มีปริมาณมากในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกลับมาเพิ่มมูลค่า โดยการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอด้วยวิธีการ ultrasonic-assisted hydrodistillation พัฒนาสูตรน้ำมันหอมระเหยนาโนอิมัลชันและศึกษาสารออกฤทธิ์สำคัญในเปลือกส้มโอที่มีฤทธิ์ในการช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในปลานิล ร่วมกับการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือ “Dose For Fish”สำหรับการคำนวณปริมาณความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยเปลือกส้มโอที่เหมาะสมสำหรับการทำสลบและพยากรณ์เวลาในการฟื้นสลบของปลานิล

นอกจากนี้ ทีมจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง สามารถคว้าเหรียญเงินมาครอง โดยมี น.ส.พัชรกันย์ อิสสระยางกูล และนายธนกฤต ไตรวุฒิ และมี ดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ และนายเกรียงกมล สว่างศรี เป็นครูที่ปรึกษา จากผลงาน “การศึกษาเสถียรภาพของเม็ดสไตโรโฟมในศักย์สนามที่เกิดจากคลื่นอะคูสติก” โดยการจำลองการรบกวนของระบบโดยการสั่นชุดการทดลองและบันทึกพฤติกรรมของเม็ดโฟม แล้วจึงนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ได้จากการคำนวณทางทฤษฎี จากการทำโครงงานนี้ ทำให้ค้นพบวิธีการใหม่ในการประเมินเสถียรภาพของระบบอะคูสติก ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาและต่อยอดเทคนิคการลอยตัวของวัตถุด้วยคลื่นเสียงให้มีเสถียรภาพและความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในกระบวนการเคลื่อนย้ายสาร เช่น การเคลื่อนย้ายหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการปนเปื้อนที่น้อยที่สุดได้อีกด้วย