เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี อุปนายกสภาลูกเสือไทย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เข้าร่วม

โดยนายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสภาลูกเสือไทยว่า สำหรับการประชุมสภาลูกเสือแห่งชาติเราได้ว่างเว้นจากการประชุมดังกล่าวมากว่า 6 ปี แต่ตอนนี้เรามีความพร้อมที่จะดำเนินการไปสู่ความก้าวหน้าของลูกเสือไทยแล้ว ซึ่งขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กิจการลูกเสือไทยก็จะต้องเร่งพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคปัจจุบันด้วย โดยการลูกเสือไทยมีมาอย่างยาวนานการก่อตั้งลูกเสือไทยภายหลังการก่อตั้งของลูกเสือโลกเพียง 4 ปีเท่านั้น เพื่อสร้างนิสัยการบำเพ็ญประโยชน์ ให้มีความรับผิดชอบและมีความซื่อสัตย์ โดยกิจการลูกเสือไทยผ่านไป 113 ปี บริบทโลกค่านิยมเปลี่ยนไปมาก แต่หัวใจของกิจการลูกเสือยังคงมีความสากลอยู่  ลูกเสือไทยทุกคนมีจิตสำนึกของความเป็นจิตอาสา ซึ่งเป็นคำที่เราคุ้นเคยอย่างมาก และภาคภูมิใจความเป็นจิตอาสา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานลูกเสือจิตอาสา เพื่อส่งเสริมสร้างจิตสำนึกให้เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ถือเป็นโครงการที่ทรงคุณค่า ดังนั้นตนจึงอยากให้การเรียนลูกเสือทำให้เด็กได้เรียนรู้การพัฒนาตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานกิจการลูกเสือไทยอยากให้มีการกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำตัวชี้วัดเหล่านั้นมาเป็นแนวทางวางแผนการพัฒนาลูกเสือในอนาคตให้มีประสิทธิภาพและมีความทันสมัย โดยตนขอมอบเป็นนโยบายให้แก่กิจการลูกเสือไทย คือ จะต้องขับเคลื่อนลูกเสือจิตอาสา เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการผลักดันตั้งสภาเยาวชนบลูกเสือแห่งชาติ ภายใต้ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” พัฒนาการอบรมลูกเสือทุกระดับ พร้อมกำหนดแนวทางจัดกิจกรรมลูกเสือให้เหมาะสม อีกทั้งบุคลากรในกองลูกเสือต้องมีการพัฒนาเครือข่ายลูกเสือให้เข้มแข็ง ดูแลความปลอดภัยจากการคุมคามในการทำกิจกรรมลูกเสือ การสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกิจการลูกเสือ พร้อมพัฒนายกระดับค่ายลูกเสือให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในประเด็นนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าให้ค่ายลูกเสือเป็นแบบตามมีตามเกิด ต้องมีการพัฒนาสาธารณูปโภคของค่ายลูกเสือให้ดีด้วย เช่น การทำเป็นหอเกียรติยศ หรือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ด้านลูกเสือไทย และที่สำคัญการจัดกิจกรรมเข้าค่ายพักแรมจะต้องไม่เกิดกรณี เช่น เมื่อมีการจัดกิจกรรมเข้าค่ายของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่อยากใช้การเข้าค่ายพักแรมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ จะต้องไม่ให้เกิดความรู้สึกว่านอนพักแรมที่ค่ายลูกเสือไม่ได้จนต้องไปหาเช่าโรงแรมแทน เป็นต้น ดังนั้นฝาก ศธ. ยกระดับมาตรฐานค่ายลูกเสือทุกแห่งให้ทันสมัยด้วย เพราะการเข้าค่ายพักแรมถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของเด็ก ที่มาอยู่ร่วมกันกับเพื่อนเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องแบบลูกเสือที่หลายฝ่ายมองว่ามีความสิ้นเปลืองในการแต่งเครื่องแบบ แต่ตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะการแต่งเครื่องแบบจะทำให้เราไม่แบ่งแยกชนชั้นทุกคนเท่าเทียมกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กรอบแนวทางกิจการลูกเสือขอให้ยึดหลักสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และจะต้องเติมคำว่าประชาชนต่อท้ายไปด้วยทุกครั้ง เพราะการเป็นสถาบันหลักของชาติได้ประชาชนคือผู้ที่ส่วนร่วมสำคัญ