เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศคุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2567 ในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นการปฏิรูปการผลิตครูและปรับโฉมกระบวนการผลิตครู โดยประกาศฉบับใหม่นี้มีหลักเกณฑ์การพิจารณา วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองปริญญาที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการของสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตครู และบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทย ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกทางการศึกษา รวมถึงประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ที่เรียกชื่ออย่างอื่น 

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ในการขอรับรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรจากคุรุสภา สถาบันอุดมศึกษาต้องกำหนดแผนการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการศักยภาพความพร้อมและความเชี่ยวชาญของแต่ละสถาบัน รวมถึงจัดทำแผนการผลิต ในรอบระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป สถาบันจะต้องวิเคราะห์ความพร้อมศักยภาพและจัดทำแผนการผลิตทุกระดับการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดย 1 สถาบัน 1 แผนรวม หากมีการผลิตนอกเหนือจากแผนที่เสนอมา คุรุสภาจะไม่รับรอง และในระหว่าง 5 ปี สถาบันอุดมศึกษาสามารถปรับแผนได้ 1 ครั้ง ซึ่งการขอรับรองหลักสูตร สถาบันต้องส่งเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องก่อนเปิดรับนักศึกษาไม่น้อยกว่า 60 วัน สำหรับหลักสูตรที่จะขอรับรองและเปิดสอนในปีการศึกษา 2569 จะต้องส่งเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ก่อนเปิดรับนักศึกษาไม่น้อยกว่า 180 วัน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจะดำเนินการรับรองฯ ให้แล้วเสร็จก่อนที่สถาบันจะเปิดรับนักศึกษา และการรับนักศึกษาต้องไม่เกินแผนการผลิตที่สภาสถาบันอนุมัติ ทั้งนี้ ใน 1 ห้องเรียนรับนักศึกษาไม่เกิน 30 คน ซึ่งอาจจะรับได้มากกว่า 1 ห้องเรียน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของสถาบันที่เป็นไปตามเกณฑ์ของสาขาวิชา และสามารถรับเกินจำนวนที่กำหนดไว้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของแผนการรับนักศึกษาเท่านั้น

ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดคุณสมบัติของอาจารย์ ต้องประกอบด้วย 1) อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตร ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา และมีคุณวุฒิด้านการศึกษาในระดับที่สูงกว่าระดับปริญญาของหลักสูตรที่รับผิดชอบหรือประจำหลักสูตร และเป็นคุณวุฒิด้านการศึกษาตรงกับสาขาวิชา หรือมีคุณวุฒิด้านการศึกษาสัมพันธ์กับสาขาวิชา และมีผลงานด้านการศึกษา ในสาขาวิชาที่รับผิดชอบตามเกณฑ์ของ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริหารหลักสูตร 2) อาจารย์ผู้สอนรายวิชาชีพครู และรายวิชาชีพบริหารการศึกษา มีคุณวุฒิ หรือประสบการณ์สอดคล้องกับรายวิชาชีพครู หรือรายวิชาชีพบริหารการศึกษา ที่รับผิดชอบจัดการเรียนการสอน และ 3) อาจารย์นิเทศก์ มีคุณวุฒิทางวิชาชีพครู วิชาชีพบริหารการศึกษา และสมรรถนะในการนิเทศการปฏิบัติการสอน การปฏิบัติการบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา กรณีอาจารย์นิเทศก์ที่ไม่มีคุณวุฒิการศึกษา ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาสมรรถนะจากหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะด้านการศึกษาที่คุรุสภารับรอง สำหรับอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน ต้องมีคุณสมบัติเป็นอาจารย์คุณภาพ 2 ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องแนวทางการพัฒนาคุณภาพอาจารย์เพื่อส่งเสริมการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2566 รวมทั้งครูพี่เลี้ยงที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ตรงกับรายวิชาที่ปฏิบัติการสอน โดยสัดส่วนครูพี่เลี้ยงต่อนักศึกษาไม่เกิน 1: 3 และอาจารย์นิเทศ 1 : 10 โดยนับรวมทุกหลักสูตรที่ปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในภาคเรียนนั้นๆ และสถาบันจะต้องออกแบบให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานครูและการสอนในสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษา

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวอีกว่า การพัฒนาผู้เรียน ต้องมีกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาให้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร มีกิจกรรมเสริมความเป็นครู โดยสถาบันต้องจัดให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร ได้แก่ 1) กิจกรรมสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองดีในด้านการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2) กิจกรรมส่งเสริมจรรยาบรรณของวิชาชีพ (E-PLC) ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 3) กิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิต การเป็นอยู่อย่างพอเพียง และการรู้เท่าทันทางการเงิน 4) กิจกรรมจิตอาสา จิตสาธารณะ หรือการบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม 5) กิจกรรมเสริมทักษะการสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับครูและ 6) กิจกรรมลูกเสือ ซึ่งอาจเป็นรายวิชาหรือกิจกรรมฝึกอบรมตามหลักสูตรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการรับรองไปแล้ว สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะส่งคณะอนุกรรมการติดตามผลการรับรองโดยการประเมินเชิงประจักษ์ เพื่อให้สถาบันดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งกรณีที่สถาบันจัดหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์การรับรอง จะต้องดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากปรับแก้ไขแล้วเป็นไปตามเกณฑ์การรับรอง คุรุสภาจะยืนยันการรับรอง แต่หากปรับแก้ไขแล้วยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์การรับรอง คุรุสภาจะพัก
การรับรองหรือยุติการรับรองแล้วแต่กรณี ซึ่งการปรับโฉมกระบวนการผลิตครูครั้งนี้ จะสร้างความมั่นใจในมาตรฐานการผลิตครู บัณฑิตที่จบมามีคุณภาพ และส่งผลต่อผู้เรียนที่จะมีคุณภาพมากขึ้น ตนขอให้สถาบันอุดมศึกษาตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ครูของครูใส่ใจกับลูกศิษย์ มีสมรรถนะการอบรมบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็นครูดีสอนดี ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ต่อไป ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดได้ในประกาศคุรุสภา เรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา ตามาตรฐานวิชาชีพเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2567 ที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567.