นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “เช็กความพร้อมอุตสาหกรรมการบิน รองรับการบินใหม่ในอนาคต” และแผนการดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ที่โรงแรมเบย์เฟียสร์ พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการฯ ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง สาเหตุที่ล่าช้ามาจากการได้รับผลกระทบในเรื่องต่างๆ อาทิ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งหากโครงการรถไฟไฮสปีดฯ ยังมีความล่าช้าออกไปอีก จะกระทบกับโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาแน่นอน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งหารือกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟไฮสปีดฯ เพื่อให้ได้ข้อยุติ และเริ่มดำเนินการโครงการนี้ให้ได้ แต่สุดท้ายหากไม่ได้ข้อยุติ และมีการยกเลิกกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟไฮสปีดฯ ทางรัฐบาลก็ต้องศึกษาว่าจะทำอย่างไรต่อไป จะเปิดประมูลใหม่ หรือรัฐบาลจะลงทุนเอง ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าโครงการรถไฟไฮสปีดฯ ควรต้องเกิดขึ้นให้ได้ตามแผน เพราะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ 3 สนามบิน หากไม่มีโครงการนี้เกิดขึ้น จะทำให้ศักยภาพการเข้าถึงสนามบินทั้ง 3 แห่ง ด้อยลงไปมหาศาล

ด้านนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับสัมปทานโครงการฯ บนพื้นที่ 6,500 ไร่ มาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 63 ปัจจุบันยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้จนกว่าเงื่อนไขในการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน(NTP) จะครบถ้วน ซึ่งขณะนี้ยังขาดอยู่อีก 1 เรื่อง คือ ข้อตกลงร่วมกับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน เพราะต้องมีการหารือเรื่องการก่อสร้างสถานีรถไฟไฮสปีดฯ ภายในสนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอออก NTP ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินงานในส่วนอื่นๆ ซึ่งใช้เงินลงทุนแล้วประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท อาทิ การออกแบบรายละเอียดการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการปรับแบบแอร์พอร์ตซิตี้ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าเชิญชวนหานักลงทุน และเชิญชวนสายการบินมาร่วมใช้บริการด้วย

นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเหลือเพียงเรื่องเดียวที่ต้องให้ได้ความชัดเจน เพราะหากโครงการใดโครงการหนึ่งเริ่ม แต่อีกโครงการหนึ่งยังเริ่มไม่ได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ กำลังรอความชัดเจนเรื่องรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะได้ข้อยุติประมาณไตรมาสที่ 2-3 (เม.ย.-ก.ย. 67) และมั่นใจว่า NTP จะออกได้ประมาณปลายปี 67 จากนั้นจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการระยะที่ 1 ได้ภายในปี 71 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี

ด้านนาวาเอกรตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า กองทัพเรือเปิดประกวดราคาโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ความยาว 3,505 เมตร กว้าง 60 เมตร วงเงิน 1.52 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยมีเอกชนมาซื้อเอกสารการประมูลประมาณ 30 ราย ซึ่งกำหนดให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 20 พ.ค. 67 คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะการประมูล และเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในปลายปี 67 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ประมาณปี 71 อย่างไรก็ตาม สำหรับรันเวย์ที่ 2 อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภา มีระยะห่างจากรันเวย์ที่ 1 ประมาณ 1,140 เมตร ซึ่งเครื่องบินสามารถขึ้นลงพร้อมกันได้ทั้ง 2 รันเวย์ ตอบโจทย์การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี

นาวาเอกรตน กล่าวต่อว่า การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะเริ่มทยอยสร้างเป็นช่วงๆ ไปก่อน ยกเว้นในส่วนของงานอุโมงค์รถไฟไฮสปีดฯ ที่จะลอดใต้รันเวย์ ระยะทางประมาณ 80 เมตร ซึ่งเชื่อว่าโครงกาารถไฟไฮสปีดฯ น่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ และสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงาน แต่หากสุดท้ายแล้วรถไฟไฮสปีดฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป ทางกองทัพเรือก็ต้องเตรียมแผนสำรองที่จะดำเนินการในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสนี้นายสุทธิพงษ์ ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ด้วย ซึ่งขณะนี้ กองทัพเรือได้เริ่มดำเนินการเคลียร์พื้นที่ส่วนต่างๆ แล้ว อาทิ ถมดินและถางป่า เพื่อเตรียมพร้อมให้เอกชนเข้ามาดำเนินการพัฒนาโครงการฯ รวมทั้งปัจจุบันพื้นที่บางส่วนได้เริ่มถูกนำมาใช้ในการทำกิจกรรมด้านสาธารณูปโภคแล้ว อาทิ งานท่อน้ำมัน และงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ประมาณ 165 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยจะผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (HybridPower Plant) ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation Power Plant) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV Solar Farm) เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2.9 แสนล้านบาท โดยการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ได้ปรับแผนจากเดิมกำหนดไว้ 4 เป็น 6 ระยะ (เฟส) เพื่อให้สอดคล้องกับประมาณการผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยขีดความสามารถในภาพรวมยังคงรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ 6 เฟส แบ่งเป็น เฟสที่ 1 รองรับได้ 12 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 2 จำนวน 15.9 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 3 จำนวน 22.4 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 4 จำนวน 30 ล้านคนต่อปี เฟสที่ 5 จำนวน 45 ล้านคนต่อปี และเฟสที่ 6 จำนวน 60 ล้านคนต่อปี.