เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอการตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) และการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท หลังจากมีการเสนอโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท หรือ ยูซีบีพี (UCBP) ตั้งแต่ปี 2561 และเสร็จสิ้นการศึกษาเมื่อปี 2566 โดยพบว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น พบได้บ่อยในคนไทยทุกเพศ มีสาเหตุมาจากการที่กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนและยุบตัวขณะหลับ ส่งผลให้ลมหายใจผ่านได้น้อย หรือผ่านไม่ได้เลย ทำให้เลือดมีออกซิเจนน้อย และมีคาร์บอนไดออกไซด์เกินกว่าปกติ เมื่อเข้าสู่สภาวะดังกล่าวสมองจะเกิดการตื่นตัวโดยอัตโนมัติเพราะต้องปรับการหายใจ จนไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ

“พอตื่นนอนก็จะมีอาการคล้ายคนอดนอน หรือนอนไม่เต็มอิ่ม สมาธิความจำ และสมรรถภาพการทำงานก็จะลดลง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง ที่สำคัญคืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคอื่นๆ ที่มีความร้ายแรงได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) บอร์ด สปสช. จึงมีมติเห็นชอบให้ตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Sleep test) และการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกนี้” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อบ่งชี้ในการรับบริการคือ 1. มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และ 2. มีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจการนอนหลับอย่างชัดเจน ดังนี้ มีปัญหาการนอน มีคะแนนประเมินความเสี่ยง OSA สูง หรือแพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยผู้ที่จะได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก จะต้องมีภาวะความรุนแรงของโรคในระดับมากหรือปานกลาง เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย พร้อมทั้งผ่านการทดลองการยอมรับการใช้เครื่อง CPAP ตามที่กำหนด ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณปีละ 84 ล้านบาท โดยในปีงบฯ 2567 หากเริ่มให้บริการได้จะใช้งบฯ ราว 42 ล้านบาท จากนี้ สปสช.จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายสำหรับหน่วยบริการ การประสานหน่วยบริการต่อไป