สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ว่า ผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งในอินโดนีเซีย ร่วมกันยื่นเรื่องต่อศาลในกรุงจาการ์ตา เพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ต่อกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการอาหารและยา และบริษัทอีก 7 แห่ง จากกรณียาน้ำเชื่อมแก้ไอปนเปื้อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 199 ราย ตั้งแต่ต้นปีนี้ และส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก


บรรดาผู้ปกครองซึ่งได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน ว่าต้องการให้รัฐบาล บริษัทจัดจำหน่าย และร้านขายยาทุกแห่งที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานแห่งใดออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ


ทั้งนี้ แต่ละครอบครัวเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เป็นเงิน 2,000 ล้านรูเปียห์ ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย (ราว 4.42 ล้านบาท) และ 1,000 ล้านรูเปียห์ ต่อผู้ป่วย 1 คน (ราว 2.21 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่อินโดนีเซียดำเนินการสอบสวนคู่ขนานไปกับแกมเบีย อินเดีย และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ซึ่งสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์ 4 ยี่ห้อของบริษัทไมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ จากอินเดีย ได้แก่ “Promethazine Oral Solution”, “Kofexmalin Baby Cough Syrup”, “Makoff Baby Cough Syrup” และ “Magrip N Cold Syrup” มีส่วนประกอบของ ไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอล ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ใช้ทำละลายในอุตสาหกรรมเท่านั้น “ห้ามใช้ในอาหารและยาอย่างเด็ดขาด” ปนเปื้อนอยู่ในยาน้ำเชื่อมแก้ไอ ในระดับที่สูงกว่าปกติ


แม้ผลการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ในอินโดนีเซียไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของไมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ อย่างไรก็ตาม ยาน้ำเชื่อมแก้ไอบางชนิดที่จำหน่ายอยู่ในประเทศ มีส่วนผสมของไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอล เช่นกัน ซึ่งจะมีการสอบสวนขยายผลต่อไป กระนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งห้ามการนำเข้า และการใช้สารประกอบต้องสงสัยทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งขอให้ทุกภาคส่วน งดการจำหน่ายยาน้ำเชื่อมแก้ไอทุกแบบด้วย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES