เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 เม.ย. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  กล่าวภายหลังการประชุมวิชาการประจำปี เนื่องในโอกาส 26 ปี แห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า ตลอด 26 ปีที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์พอสมควรระดับหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40  ปี 50  ปี 57 ปี 60 แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามวิกฤติบ้านเมือง แต่กติกา และโครงสร้างทางการเมืองยังเหมือนเดิม เช่นเดียวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป บางอย่างหายไปบ้าง เช่น อำนาจการยุบพรรคการเมืองของศาลฯ กรณีที่ไม่ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำปี แต่ไม่มีผลกระทบ และมีอำนาจให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น การร้องโดยตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจใหม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 60

เมื่อถามถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่หลายครั้งถูกสังคมและนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  กล่าวยอมรับว่า การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่วิจารณ์แล้วทำให้บ้านเมืองสงบและเป็นที่ยอมรับ บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น และตนเองก็ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นอย่างเต็มที่ แต่จะต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามองค์กรตุลาการ อย่าใช้คำหยาบคาย เพราะจะมีโทษตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยคดีสำคัญทางการเมือง ซึ่งจะมีแรงกระแทกจากสังคมกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญอีกนั้น นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ และอีกมุมหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ลดลง ซึ่งหากพรรคการเมืองสามารถตกลง เจรจากันได้ในสภา คดีก็จะไม่มาถึงศาล แต่เมื่อสภา ตัดสินใจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จึงแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่ง และเราก็พร้อมรับฟังข้อโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย พิจารณาตามข้อกฎหมาย แล้วจึงตัดสินใจ ซึ่งขอยืนยันว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีธงในการตัดสินคดีและการวินิจฉัยคดี ก็สามารถชี้ขาดได้เพียง ซ้าย หรือขวา หรือชอบ หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น แตกต่างจากการเขียนคำตอบเชิงวิชาการ ที่คำตอบสามารถออกมาได้หลายมุม จึงทำให้สังคมมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีธง ทั้งที่ตุลาการก็มีการถกเถียงกันมากพอสมควร

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลขอยื่นขยายเวลาการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำร้องยุบพรรค สืบเนื่องมาจากข้อกล่าวหาการล้มล้างการปกครองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้น นายนครินทร์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนำวาระเข้าพิจารณา ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของตุลาการ ในเบื้องต้นจะมีการอนุมัติให้ขยายเวลาไปแล้ว 15 วัน และอาจจะขยายได้อีกตามเหตุสมควร ความพอเหมาะพอดี โดยพร้อมรับฟังผู้ขอซึ่งจะต้องชี้แจงเหตุผลหรือหากจะยื่นพยาน หลักฐาน ก็สามารถทำได้เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณา

“ยืนยันว่ากระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ยังไม่เกิดเกิดขึ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ เพราะการขอขยายเวลาจากพรรคก้าวไกลตามกรอบก็เลยเดือน เม.ย.แล้ว และยังไม่ทราบว่าจะมีการไต่สวนหรือไม่ หากทางพรรคก้าวไกลขอมาก็จะรับไว้พิจารณาว่าจะต้องไต่สวนเรื่องอะไรและที่ประชุมจะต้องพิจารณา ซึ่งปกติจะมีการไต่สวนเรื่องหลักฐานและบุคคลโดยตุลาการก็พร้อมที่จะรับฟังความเห็น โดยอาจจะให้ผู้รู้ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างพยานเข้ามาชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่จำเป็นต้องมาที่ศาลทั้งหมด” นายนครินทร์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการคาดการณ์ฟันธงว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบนั้น นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นที่คาดการณ์เช่นนั้น แต่ข้อกฎหมายคนละข้อ ซึ่งการตัดสินครั้งที่ผ่านมาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ส่วนการยุบพรรคเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน และอธิบายเพิ่มเติมว่าคำร้องนี้กับกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นคำร้องคนละอย่างกัน

”เวลาที่เราไม่ใช่นักกฎหมาย เราชอบคิดว่าข้อเท็จจริงเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันหรอก มันต่างกันมาก แค่ชื่อของตัวแสดงทางการเมืองหรือตัวแสดงในคดีก็ต่างกันอยู่แล้ว ไม่ใช่ตัวแสดงคนเดียวกัน” นายนครินทร์ กล่าว และว่า ในการประชุมครั้งถัดไปจะพิจารณากรณีที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่ของรัฐสภาเกี่ยวกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำกี่ครั้ง.