เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขณะนี้มีนักท่องเที่ยว ขึ้นไปท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากอากาศกำลังดี และที่สำคัญพากันนิยมไปถ่ายรูปคู่กับทุ่งหญ้าคา ที่กำลังออกดอกสะพัดสวยงามทั้งบริเวณทุ่งหนองผักชี และโป่งทุ่งกวาง ซึ่งดอกหญ้าคาบานสะพรั่งออกดอกขาวโพลนไปหมด

สำหรับดอกหญ้าคา นอกจากความสวยงามแล้วนั้น นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ ได้มาให้ความรู้เรื่อง หญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) ว่า เป็นพืชต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species) ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กีบและสัตว์กินพืช ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่วัชพืช เป็นพืชที่ขึ้นมาเองตามธรรมชาติในไร่ในสวน โดยที่ผู้ดูแลไม่ต้องการ ส่วนใหญ่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือมีน้อย มักสร้างความเสียหายให้พืชเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วัชพืชที่ไม่ต้องการนั้นก็อาจจะอุดมไปด้วยธาตุอาหารพืชทั้งธาตุหลักและธาตุรองครบถ้วน


หญ้าคา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณแนวชายฝังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วได้แพร่กระจายพันธ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันพบว่าหญ้าคาได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วทุกทวีปที่มีภาวะอากาศแบบร้อนชื้น และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชที่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่เพาะปลูกเป็นอย่างมาก สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่รกร้าง ตามภูเขาหินปูน และตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง รวมถึงตามริมทางทั่วๆ ไป โดยหญ้าคาจัดเป็นวัชพืชที่ชอบแสงแดดและมีความทนทานสูงมาก เผากำจัดหรือทำลายได้ยาก ยิ่งเผาทำลายก็เหมือนไปช่วยกระตุ้นให้มันงอกมากขึ้น ทำให้ออกดอกแพร่พันธุ์มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นวัชพืชที่ลุกลามไปตามท้องไร่หรือพื้นที่ต่างๆ และกำจัดได้ยาก อีกทั้งยังเป็นวัชพืชที่แก่งแย่งธาตุอาหารและน้ำกับพืชที่ปลูก และยังปลดปล่อยสารธรรมชาติบางชนิดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพืชชนิดนี้จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แต่ก็ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยลำต้นใต้ดินได้


เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ราษฎรบ้านท่าด่าน และบ้านท่าชัย จังหวัดนครนายก ได้บุกรุกถางป่าปลูกพริกปลูกข้าวบนเขาใหญ่ และจับจองพื้นที่สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บนเขาใหญ่ ประมาณ 30 หลังคาเรือน ต่อมาได้พัฒนายกฐานะเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นอยู่กับอำเภอปากพลี ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นได้ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บนเขาใหญ่อพยพลงสู่ที่ราบ หมู่บ้านและไร่ ที่ทำกินบริเวณป่าเขาใหญ่จึงถูกทิ้งร้างกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาสลับกับป่าที่อุดมสมบูรณ์ หลังการประกาศอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้มีการจัดการ ทุ่งหญ้าบริเวณนี้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า โดยใช้การเผาเพื่อควบคุมและให้หญ้าระบัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงมีความจำเป็นต้องรักษาสภาพทุ่งหญ้านี้ไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และในปัจจุบันพบว่ามีไม้ยืนต้นบางชนิดขึ้นปะปนอยู่ อาจเป็นสาเหตุให้แหล่งอาหารนี้หายไป จึงต้องมีการกำจัด เพราะถือว่าเป็นวัชพืช หรือพืชที่ไม่ได้ต้องการ.

ขอบคุณภาพ นายสุวิทย์ วงศ์จินดา พัชรีญา ชอบธรรม และทรงวุธ ต๊ะน้อย