เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 15-16 เม.ย. 67 คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาในภูมิภาคต่างๆ สู่กรุงเทพฯ โดย ขร. ได้ประสานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการจัดขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสารในวันที่ 16 และ 17 เม.ย. 67 รวม 6 ขบวน รวมทั้งการเพิ่มตู้โดยสาร เพื่อให้เพียงพอ และรองรับต่อการเดินทางกลับของประชาชน รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องขอความร่วมมือจังหวัดที่มีทางรถไฟผ่าน ให้จัดอาสาสมัครประจำจุดตัดทางรถไฟหรือทางลักผ่านทางรถไฟเสมอระดับ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดดังกล่าว 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ส่วนทางด้านรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เน้นย้ำให้ผู้ให้บริการตรวจสอบความสมบูรณ์ พร้อมใช้งานต่อกล้อง CCTV ทั้งในพื้นที่สถานีและในขบวนรถไฟฟ้า และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำจุดต่างๆ ภายในสถานีและเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา นอกจากนี้ ยังประสานเพิ่มความถี่ในการให้บริการรถไฟฟ้า เพื่อรองรับช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางไปเล่นน้ำสงกรานต์ยังสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับความนิยม รวมทั้งกำชับเรื่องการควบคุมปริมาณผู้โดยสารในสถานีรถไฟฟ้าและในขบวนรถไฟฟ้า ให้อยู่ในระดับปริมาณที่เหมาะสม (crowd control) อาทิ สถานีสยาม สถานีชิดลม สถานีพระราม 9 สถานีมักกะสัน และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเพิ่มจุดจำหน่ายบัตร/เหรียญโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการระบบรางอีกด้วย 

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 67 ซึ่งเป็นวันครอบครัว นับเป็นวันที่สี่ของวันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 67 มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวม 1,070,251 คน-เที่ยว ซึ่งสูงกว่าประมาณการ 71,582 คน-เที่ยว หรือสูงกว่าประมาณการ 7.17% (ประมาณการ 998,669 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. 76,429 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถไฟชานเมือง (รวมสายสีแดง) 993,822 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี 3 คน) มีรายละเอียด ดังนี้ รถไฟระหว่างเมือง ให้บริการรวม 209 ขบวน (รวมขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 1 ขบวน คือ ขบวน 5 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ มีผู้ใช้บริการ 396 คน-เที่ยว) มีผู้ใช้บริการจำนวน 76,429 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีที่ผ่านมา 12,827 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 20.17% (วันที่ 14 เม.ย. 66 ผู้ใช้บริการรถไฟ 63,602 คน-เที่ยว) แต่ยังน้อยกว่าประมาณการ 12,349 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการ 13.91% (ประมาณการ 88,778 คน-เที่ยว) 

แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 32,581 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 43,848 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออก 37,568 คน-เที่ยว และขาเข้า 38,861 คน-เที่ยว โดยพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 27,443 คน-เที่ยว (ขาออก 13,263 คน-เที่ยว ขาเข้า 14,180 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้บริการ 18,504 คน-เที่ยว (ขาออก 8,964 คน-เที่ยว ขาเข้า 9,540 คน-เที่ยว) สายเหนือ 12,689 คน-เที่ยว (ขาออก 6,643 คน-เที่ยวขาเข้า 6,046 คน-เที่ยว) สายมหาชัยและแม่กลอง 9,648 คน-เที่ยว (ขาออก 4,695 คน-เที่ยว ขาเข้า 4,953 คน-เที่ยว) และสายตะวันออก 8,145 คน-เที่ยว (ขาออก 4,003 คน-เที่ยว ขาเข้า 4,142 คน-เที่ยว) 

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ส่วนระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารวม 2,368 เที่ยว (รวมเสริม 24 เที่ยว) มีผู้ใช้บริการรวม 993,822 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีที่ผ่านมา 250,051 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 33.62% (วันที่ 14 เม.ย. 66 ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า 743,771 คน-เที่ยว) แต่ยังน้อยกว่าประมาณการ 12,349 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการ 13.91% (ประมาณการ 88,778 คน-เที่ยว) ประกอบด้วย รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 173 เที่ยว มีผู้ใช้บริการ 54,632 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 14 เม.ย. 66 จำนวน 12,651 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 30.14%)  

รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 294 เที่ยว มีผู้ใช้บริการ 18,965 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดง 3 คน-เที่ยว) (เพิ่มขึ้นจาก 14 เม.ย. 66 จำนวน 6,973 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 58.15%), รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ให้บริการ 220 เที่ยว (รวมเที่ยวเสริม 2 เที่ยว) มีผู้ใช้บริการ 31,889 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 14 เม.ย. 66 จำนวน 15,892 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 99.34%), รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ให้บริการ 272 เที่ยว (รวมรถเสริม 22 เที่ยว) มีผู้ใช้บริการ 263,503 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 14 เม.ย. 66 จำนวน 87,048 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 49.33%)   

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 760 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 553,548 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 14 เม.ย. 66 จำนวน 67,568 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 13.90%), รถไฟฟ้า สายสีทอง ให้บริการ217 เที่ยว มีผู้ใช้บริการ 11,546 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 14 เม.ย. 66 จำนวน 180 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 1.58%), รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ให้บริการ 216 เที่ยว มีผู้ใช้บริการ 26,206 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ให้บริการ 216 เที่ยว มีผู้ใช้บริการ 33,533 คน-เที่ยว ในด้านความปลอดภัยในการให้บริการระบบขนส่งทางราง มีอุบัติเหตุทางรถไฟ 2 ครั้ง และเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้า 1 ครั้ง

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเดินทางสะสม 4 วันที่ผ่านมา มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้น 4,720,371 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 4 วันเดียวกันของปีที่ผ่านมา 830,981 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 21.37% (11-14 เม.ย. 66 จำนวน 3,889,390 คน-เที่ยว) และสูงกว่าประมาณการ 23,934 คน-เที่ยว หรือสูงกว่าประมาณการ 0.51% (ประมาณการ 4,696,437 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมือง 324,424 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 40,582 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 14.30%) และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถไฟชานเมือง (รวมสายสีแดง) 4,395,947 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี 50 คน) (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา790,399 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 21.92%).