นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ร่วมคณะตรวจราชการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และพบปะประชาชนรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะด้านต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการทางพิเศษ (ด่วน) จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ที่มีการปรับรูปแบบก่อสร้างอุโมงค์ให้เร็วขึ้น พร้อมให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ศึกษาแผนโปรโมตเกาะมัลดีฟส์ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการทำแผนที่มีความเชื่อมโยงกับเกาะต่างๆ ของไทย ทำให้เศรษฐกิจพื้นฐานของภาคใต้ดีขึ้นต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลกที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) ร่วมกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ในระยะเร่งด่วน และเร่งรัดโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้โดยเร็วตามนโยบายนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ ให้มีความสะดวก ปลอดภัย โดยต้องได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน การก่อสร้างต้องมีความปลอดภัย ไม่ล่าช้าเครื่องจักรมีความพร้อม และมีบุคลากรดำเนินการทุกวัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของ จ.ภูเก็ต ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ จ.ภูเก็ต ต้องเผชิญกับวิกฤติจราจรบนถนนสายหลัก (ทล.402) โดยเฉพาะบริเวณทางแยกถลาง แยกเขาล้าน วงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร และแยกเกาะแก้ว จึงสั่งการให้ ทล. แก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางหลวงสายหลัก โดยในระยะสั้น ทล. มีแผนทดลองบริหารจัดการจราจรบน ทล.402 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนโครงข่ายทางหลวง ดังนี้ 1.ปรับปรุงระบบประมวลผลไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะในทุกทางแยก 2.กำหนดเขตห้ามจอดรถริมทางหลวง เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรบนทางหลัก และบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกำกับดูแลการจอดรถของสถานที่ราชการและร้านค้า 3.ปิดจุดกลับรถบริเวณหน้าไทยวัสดุ และ 4.ทางแยกเกาะแก้ว มีแนวคิดทดลองให้รถวิ่งตรงผ่านทางแยกอย่างเดียวบนทางสายหลัก ส่วนถนนสายรอง จะให้รถเลี้ยวซ้ายไปกลับรถทั้งหมดเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน โดยจะทำการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ก่อนดำเนินการต่อไป

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนระยะต่อไป ทล. มีแผนก่อสร้างโครงการสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงสายหลักได้อย่างยั่งยืน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ้านเมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ก่อสร้างทางแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร และทางแยกต่างระดับ ระยะทาง 1.95 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท เสนอขอตั้งงบประมาณในปี 68, 2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วงบ้านพารา-บ้านเมืองใหม่ ก่อสร้างขยายถนนเดิมจาก 2 ช่องจราจร ให้เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 4.55 กม. และก่อสร้างสะพานพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน 3 แห่ง วงเงินก่อสร้างรวม 650 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างกลางปี 67 เปิดให้บริการภายในปี 69 และ 3.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล. 402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (แยกท่าเรือ) วงเงินค่าก่อสร้าง 2,380 ล้านบาท มีแผนเริ่มก่อสร้างกลางปี 67 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 69

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริหารจัดการจราจร เพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสร็จตามแผนที่กำหนด จะต้องคัดเลือกผู้รับจ้างที่มีศักยภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ ต้องกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานก่อสร้างที่เข้มงวดเพื่อเร่งรัดให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสัญญา พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาจราจร และลดผลกระทบจากโครงการก่อสร้าง อีกทั้งให้บูรณาการความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค กรมศิลปากร สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต และหน่วยงานราชการในจังหวัดภูเก็ต รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ฯ และงานในส่วนอื่นๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ไม่กระทบให้งานก่อสร้างล่าช้า ตลอดจนสำรวจเส้นทางเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพการจราจรบน ทล.402 และแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ และติดตามการปฏิบัติงานในระดับกระทรวงคมนาคม และ ทล. เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานยกระดับ ทล.4027 (ทางเลี่ยงเมือง) ตอน บ้านเมืองใหม่-แยกเข้าสนามบิน ระหว่าง กม.ที่ 18+850-20+800 และโครงการทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (ทางเลี่ยงเมือง) (แยกท่าเรือ) บริเวณอนุสาวรีย์ฯ โดยกระทรวงคมนาคมได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ข้อสั่งการใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับ ทล. เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระยะสั้น และระยะก่อสร้าง

2.ให้หน่วยงานด้านสาธารณูปโภค อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาคและหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จก่อนการดำเนินการก่อสร้าง และขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรในการให้คำแนะนำ และร่วมกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ฯ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างามสมเกียรติ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และ 3.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาผ่อนผันระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงขนาดใหญ่ของ ทล. ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตรา 0.25% ของราคางานจ้าง เป็น 1% ของราคางานจ้าง เพื่อป้องกันความล่าช้าเสียหายจากงานก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่.