เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่วัดควนขัน อ.เมือง จ.ตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผวจ.ตรัง พร้อมด้วยส่วนราชการ ประชาชนกว่า 1 พันคน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ สามเณร พร้อมทั้งเปิดงานประเพณีชักพระเดือนห้า หรือเรียกโดยทั่วไปว่าลากพระบก หรือลากพระเดือน 5 หนึ่งเดียวใน จ.ตรัง และยังคงหลงเหลือประเพณีนี้ ไว้เพียงแห่งเดียวของไทย

โดยชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้ร่วมกันชักเรือพระที่ตกแต่งอย่างสวยงามออกจากวัดควนขัน ไปยังสามแยกทางเข้าชุมชนควนขัน บนถนนสายตรัง-พัทลุง เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนที่เดินทางผ่านไปผ่านมา ได้ร่วมกันสักการบูชาเรือพระ มีการรำกลองยาวและร่ายรำไปตลอดเส้นทาง โห่ร้องท่ามกลางความสนุกสนาน และได้แย่งขนมต้ม ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้าน ที่ผูกติดอยู่บนเรือพระ เพื่อนำไปรับประทานกัน และเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ก่อนจะเป็นการเสร็จสิ้นพิธี

จากตำนานเล่าขาน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวบ้านควนขัน ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานหลายชั่วอายุคน การลากพระบกจะจัดขึ้นในเดือนห้า (แรม 1 ค่ำ เดือน 5) ซึ่งปัจจุบันใน จ.ตรัง ประเพณีลากพระบกคงมีการอนุรักษ์ไว้เพียงแห่งเดียวคือ วัดควนขัน ชาวควนขันยังยึดมั่นและอนุรักษ์สืบสานประเพณีชักพระเดือนห้าจวบจนปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมประเพณีชักพระเดือนห้า มีตำนานเล่าขานกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ว่าเดิมในบริเวณพื้นที่โดยรอบของวัดพระงาม มีพื้นที่ทุ่งนากว้างขวางติดต่อกันหลายตำบล ในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าว จะมีหนุ่มสาวทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่เดินทางมารับจ้างเกี่ยวข้าว หรือเรียกว่าการลงแขก เมื่อทุกคนร่วมกันเกี่ยวข้าว เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ก็ได้หาอุบายที่จะให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นเข้าวัดทำบุญ

จึงได้ออกอุบายให้มีการแย่งพระกันเกิดขึ้น จากการแย่งพระจึงนำไปสู่การชักพระบกในช่วงเดือนห้าหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว โดยเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้าน และกำนันของแต่ละตำบล ได้หารือและตกลงกันว่าในช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 5 จะมีการแย่งพระกัน ซึ่งมีวัดที่เข้าร่วมจำนวนหลายวัด เช่น วัดหัวเขา วัดปากเหมือง วัดโพธิ์ วัดควนขัน ฯลฯ ซึ่งในการดำเนินการครั้งแรก ได้มอบให้วัดพระงามเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ทางวัดพระงามจึงได้จัดให้มีการสมโภชเรือพระ จัดงานรื่นเริงต่างๆ มีการแสดงมหรสพและการละเล่นพื้นบ้าน เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ ก็จัดให้มีการแย่งพระ ซึ่งมีกติกาว่าหากตำบลใดสามารถแย่งพระ โดยการลากเรือพระไปที่วัดในตำบลของตัวเองได้ ก็จะได้เป็นเจ้าภาพในปีต่อไป และปีต่อๆ มาก็ได้ถือปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมาหลายชั่วอายุคน แต่ในปัจจุบัน ประเพณีนี้ขาดการปฏิบัติสืบเนื่อง จนในที่สุดก็ค่อยๆ จางหายไป แต่สำหรับในเขตอำเภอเมืองตรัง คงมีแต่ชาวบ้านควนขัน ที่ได้ร่วมอนุรักษ์ สืบสานประเพณีนี้ไว้ได้เพียงบางส่วน ที่สามารถให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ในบางแง่บางมุมเท่านั้น

สำหรับการจัดงาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีชักพระเดือนห้าของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่นและใกล้เคียง เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งเรือพระส่งเสริมอนุรักษ์การละเล่นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเพณีชักพระวัดควนขัน และวิถีชีวิตของคนในชุมชนควนขัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนในท้องถิ่น เกิดจิตสำนึกรักหวงแหนบ้านเกิด และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีชักพระวัดควนขัน ไปสู่เด็ก เยาวชน รุ่นต่อๆ ไป ได้อย่างถูกต้อง.