นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เดือน มี.ค. 67 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 24,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.9% เมื่อเทียบเดือน มี.ค. 66 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เมื่อคิดเป็นเงินบาท 892,290 ล้านบาท ลดลง 6.6% ขณะที่การนำเข้า 26,123 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% คิดเป็นเงินบาท 944,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% ขาดดุลการค้า 1,163 ล้านดอลลาร์ หรือขาดดุล 52,538 ล้านบาท

ขณะที่ยอดส่งออก 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 67 มีมูลค่ารวม 70,995 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.2% จากปีก่อน คิดเป็นเงินบาท 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% การนำเข้ารวม 75,470 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นเงินบาท 2.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% ขาดดุลการค้า 4,475 ล้านดอลลาร์ หรือขาดดุล 188,014 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% และสินค้าอุตสาหกรรม 9.9% แต่สินค้าเกษตร เพิ่ม 0.1% ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัว เช่น จีน หดตัว 9.7%, ญี่ปุ่น 19.3%, สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 0.1%, อาเซียน (5) 26.1%, เอเชียใต้ 6.1%, ตะวันออกกลาง 7.3%, แอฟริกา 11.9% เป็นต้น แต่สหรัฐ เพิ่ม 2.5%, ซีแอลเอ็มวีเพิ่ม 0.5%, ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5% เป็นต้น

นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มส่งออกเดือน เม.ย. 67 จะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 2 ก็เป็นบวกเช่นกัน มาจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้กำลังออกสู่ตลาด ขณะที่คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนเข้าสู่การฟื้นตัว สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์พลังงานสะอาด ที่จะส่งออกได้ดีขึ้น จึงมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะโต 1-2% ส่วนการขาดดุลการค้า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะสินค้าหลักที่นำเข้าสูง คือ สินค้าทุนและวัตถุดิบ สัดส่วน 60% ของการนำเข้ารวม และน้ำมัน สัดส่วน 19% 

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทย ติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เนื่องจากปีที่แล้วฐานการส่งออกในเดือน มี.ค. 66 มีมูลค่าสูงมากถึง 27,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับส่งออกเดือนนี้ที่ทำได้ 24,960 ล้านดอลลาร์ จึงทำให้ติดลบ 10.9% ซึ่งเหตุผลที่ทำให้การส่งออกปีก่อนสูงผิดปกติ มาจาก

  1. ประเทศจีนมีการประกาศคลายล็อกดาวน์ ทำให้มีการหลั่งใหลนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลไม้สด
  2. ปีนี้ ผลผลิตผลไม้ของไทย ออกมาช้ากว่าปกติ เนื่องจากประสบภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเสียหาย และออกมาช้าลง ส่งผลให้ยอดส่งออกผลไม้ภาพรวมติดลบ โดยยอดปีก่อนในช่วง 3 เดือนแรกส่งออกผลไม้ได้ 24,378 ล้านบาท ลดลง 12.59% จากปีก่อน 27,889 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนติดลบไปกว่า 51.13% โดยช่วง 3 เดือน ส่งออกได้เพียง 5,788 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ถึง 11,840 ล้านบาท
  3. ปีก่อนทั่วโลกได้เผชิญปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้มาก แต่ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนดังกล่าวคลี่คลายไปแล้ว ทำให้ยอดส่งออกลดน้อยถอยลง