เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum :WEF) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง การกำหนดอนาคตของการเรียนรู้: บทบาทของ AI ในการศึกษา 4.0 (Shaping the Future of Learning: The Role of AI in Education 4.0) ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาของไทยให้เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงใน 4 ประเด็น ได้แก่  1.ความท้าทายสำคัญที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนลดลงเกิดจากช่องว่างของครูทั่วโลก โดยปัจจุบันทั่วโลกขาดแคลนครู โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งจะต้องมีครูเพิ่มอีก 15 ล้านคนภายใน ปี 2573 ต้องมีครูเพิ่มอีก 15 ล้านคนภายในปี 2573 ทั้งนี้ การขาดแคลนนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาอีกด้วย และ 2.ช่องว่างในกระบวนการบริหารและการประเมิน โดยพบว่า ครูใช้เวลากับงานธุรการมาก ทำให้เวลาที่มีคุณภาพกับนักเรียนลดลง อีกทั้งกระบวนการประเมินที่ไม่มีประสิทธิภาพยังเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจด้านกลยุทธ์และการลงทุนด้านการศึกษาให้ทันท่วงที AI สามารถสนับสนุนบทบาทของครูในด้านการศึกษา โดยนำ AI มาช่วยปรับปรุงงานธุรการสำหรับครู เพื่อให้ครูมีเวลากับนักเรียนมากขึ้น นำ AI มาช่วยในการประเมินเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและการพัฒนาได้รวดเร็วและทำในวงกว้างได้ขึ้น รวมทั้งช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อผิดพลาดของตนและสนับสนุนข้อมูลแก่ครูว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วน 3. AI สามารถปรับแต่งเนื้อหา วิธีการ และประสบการณ์การเรียนรู้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล จึงช่วยตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายและปรับปรุงผลการเรียน และ 4. AI  สามารถช่วยให้นักเรียนพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ เตรียมความพร้อมสำหรับตลาดงานในอนาคตที่ต้องใช้ความสามารถด้านดิจิทัล ประโยชน์ของการบูรณาการ AI เข้ากับหลักสูตรการศึกษา ได้แก่ AI สามารถนำเสนอเส้นทางการศึกษาที่ปรับให้เหมาะกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ตอบสนองความต้องการและการปรับปรุงการเรียนของนักเรียนที่หลากหลาย AI สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการเรียนรู้ของนักเรียน การระบุจุดแข็งและจุดอ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน AI สามารถทำให้งานธุรการเป็นอัตโนมัติ ทำให้ครูมีเวลามุ่งเน้นไปที่งานที่มีมูลค่าสูงกว่า เช่น การมีส่วนร่วมกับนักเรียน การปรับแต่งเนื้อหา และพัฒนาทักษะการสอน และการบูรณาการ AI เข้ากับหลักสูตรสามารถจัดเตรียมนักเรียนให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีในอนาคต สำหรับในภาพรวมการศึกษาของประเทศไทยยังมีการนำ AI มาใช้น้อยมาก ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรลงทุนด้าน AI ไม่ใช่เพื่อมาแทนครู แต่เพื่อให้ AI มาช่วยในการสนับสนุนงานของครูในส่วนที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา