สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ว่า ไวโปกล่าวว่า อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังฟื้นตัว หลังประเทศต่าง ๆ แสวงหานวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจในประเทศ
ไวโปกล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สามารถทำได้ โดยการนำจุดแข็งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนา
“เราเห็นการพัฒนาของนโยบายอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจทุกขนาด” นายดาเรน ถัง ผู้อำนวยการไวโประบุ
“การพัฒนานี้รวมถึงในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดหลายประเทศ ที่มีเป้าหมายเป็นความหลากหลายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ประเทศต้องมีนวัตกรรม, ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาห่วงโซ่อุปทาน จัดการกับความท้าทายในระดับชาติและนานาชาติ และขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืน”
“หลายประเทศมองเห็นอนาคตทางเศรษฐกิจ ในด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความเป็นผู้ประกอบการ” เขากล่าวเสริม
ไวโปเผยแพร่รายงานทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย เสริมสร้างความเข้มแข็งของนโยบายอุตสาหกรรม
The World Intellectual Property Report 2024 finds that the development of local innovation capabilities is key to boost economic growth: https://t.co/HpbSjYp9az
— World Intellectual Property Organization (WIPO) (@WIPO) May 2, 2024
The report's case studies explore successful industrial development in motorcycles????, videogames???? & agtech????#WIPR24 pic.twitter.com/mnExAVXHdS
รายงานฉบับนี้ได้รับการจัดทำทุก 2 ปี เพื่อเผยแพร่ถึงบทบาทของนวัตกรรมต่อเศรษฐกิจ โดยพิจารณาถึงแค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนั้น รายงานระบุว่า มีการฟื้นตัวของนโยบายอุตสาหกรรม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุอีกว่า ความสามารถทางวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และการผลิต มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูง อาทิ สหรัฐ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และ/หรือ ในประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ จีนและอินเดีย
รายงานอธิบายเพิ่มเติมว่า หากแต่ละประเทศและภูมิภาค พิจารณาถึงจุดแข็งของตัวเองอยู่ ก็จะสามารถบรรลุประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนานวัตกรรมได้
“โดยสรุป เศรษฐกิจเติบโตโดยการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำและแพร่หลาย ไปเป็นกิจกรรมที่มีผลผลิตหายาก ซึ่งต้องอาศัยทุนมนุษย์ที่มีทักษะมากกว่า” รายงานกล่าว
รายงานได้วิเคราะห์คำร้องยื่นจดสิทธิบัตรเกือบ 40 ล้านฉบับ, เอกสารทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 70 ล้านฉบับ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการมากกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11,040 ล้านล้านบาท) ว่าตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการกระจุกตัวของวัฒนธรรมในระดับสูง
“ตัวอย่างเช่น เมื่อช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศ 8 อันดับแรก ครองสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 50, สัดส่วนสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์กว่าร้อยละ 60 และสัดส่วนสิทธิบัตรระหว่างประเทศร้อยละ 80” รายงานระบุ
ไวโประบุเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อาทิ ในจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่ความหลากหลายทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
จีนก้าวกระโดดจากที่เคยมีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 94 ขณะที่ความสามารถทางเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 83 และอินเดียมีความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นสองเท่า จากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 21.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES