สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ว่าจากกรณีที่การประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่เชิญ “ผู้แทนระดับสูงทางการเมืองของเมียนมา” เข้าร่วมการหารือประจำปีนี้ เนื่องจาก “มีความผิดหวัง” ต่อการที่รัฐบาลทหารเมียนมา ยังไม่สามารถปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ตามที่ตกลงกันไว้ในการประชุมวาระฉุกเฉิน ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น


สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ซึ่งทรงทำหน้าที่ประธานอาเซียนประจำปีนี้ ตรัสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุม ว่าเมียนมาคือส่วนหนึ่งของ “ครอบครัวอาเซียน” และเพื่อให้เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของ “การไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน” อาเซียนควรให้เวลาและพื้นที่กับเมียนมา ในการคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ สืบเนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา


สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนประจำปีหน้า กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การขับเมียนมาออกจากกรอบความร่วมมือกับอาเซียน แต่เมียนมาเลือกที่จะละทิ้งสิทธินั้นเอง การประชุมอาเซียนปีนี้ “กลายเป็นอาเซียนลบหนึ่ง” ไม่ใช่เพราะอาเซียน “แต่เป็นเพราะพฤติกรรมของเมียนมาเอง”


ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ กล่าวเรียกร้องคู่กรณีทุกภาคส่วนในเมียนมา ให้หันหน้ามาเจรจาร่วมกันอย่างสันติ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาร่วมมือกับอาเซียน ด้วยการอนุญาตให้นายอีริวาน ยูซอฟ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมาของอาเซียน ได้มีโอกาสเยือนกรุงเนปิดอว์อย่างเป็นทางการ


นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ผู้นำมาเลเซีย กล่าวว่า สนับสนุนการดำเนินงานของบรูไนในฐานะประธานประจำปีนี้ และการตัดสินใจของบรูไนที่มีต่อเมียนมา ทั้งนี้ มาเลเซียยังคงเฝ้ารอการกลับมาอย่างเป็นทางการของเมียนมา ในการประชุมอาเซียนครั้งต่อไป


ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่าโดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่า อาเซียนจะสามารถช่วยเหลือเมียนมาฝ่าฟันวิกฤติการเมืองครั้งนี้ไปได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเสียใจที่รัฐบาลทหารเมียนมายังปฏิเสธความสนับสนุนจากอาเซียน ทั้งนี้ วิโดโดยืนยันว่า อาเซียนยังคงยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงเรื่องภายในซึ่งกันและกัน แต่ในเวลาเดียวกัน อาเซียนต้องร่วมกันรักษาหลักการอื่นด้วย เพื่อการผดุงไว้ซึ่งประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาล หลักสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลตามหลักรัฐธรรมนูญ


นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ผู้นำสิงคโปร์ กล่าวว่า การที่ฉันทามติ 5 ข้อไม่มีความคืบหน้าในทางปฏิบัติจากฝ่ายเมียนมา “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงน่าวิตกกังวลในทุกมิติ สิงคโปร์ขอเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมา ให้ความร่วมมือกับอาเซียนอย่างเต็มที่ และอนุญาตให้ทูตพิเศษเข้าประเทศ


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาเป็นบททดสอบความสามารถของอาเซียน ในการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อาเซียนควรมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา เพื่อความน่าเชื่อถือของอาเซียน ในประชาคมระหว่างประเทศ โดยไทยต้องการที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา และพร้อมฉันทามติ 5 ข้อ พร้อมหวังว่าเมียนมาจะไว้ใจอาซียน ในการช่วยเหลือให้เมียนมาบรรลุสันติภาพ และความสมานฉันท์ รวมทั้งกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย.

เคริตภาพ : AP