สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ว่า คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในเขตเมืองหลายแห่งของเอเชีย เนื่องจากเครื่องปรับอากาศช่วยบรรเทาความร้อนจากอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาค มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น

ตามรายงานปี 2562 ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) สัดส่วนบ้านเรือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครื่องปรับอากาศ อยู่ที่ 15% เท่านั้น แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่สูงมาก เพราะสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศประมาณ 80% ขณะที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีการติดตั้งน้อยกว่า 10%

ทั้งนี้ การคาดการณ์ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น และค่าจ้างที่ดีขึ้น อาจทำให้จำนวนเครื่องปรับอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านเครื่องเมื่อปี 2560 เป็น 300 ล้านเครื่อง ภายในปี 2583 ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แม้ประสบปัญหาภายใต้สภาพการณ์ปัจจุบันก็ตาม

เมียนมาผลิตไฟฟ้าได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งรัฐบาลทหารกล่าวโทษระบบไฟฟ้าพลังน้ำที่อ่อนแอ เนื่องจากฝนตกน้อย, ปริมาณก๊าซธรรมชาติต่ำ และการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานโดยฝ่ายตรงข้าม

อีกด้านหนึ่ง ไทยมีความต้องการพลังงานในระดับสูงประวัติการณ์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีอากาศเย็น

อนึ่ง ไออีเอ ระบุว่า แม้เครื่องปรับอากาศเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 1,000 ล้านเมตริกตันต่อปี จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกทั้งหมด 37,000 ล้านเมตริกตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลือกในการทำความเย็นเช่นนี้ คือวิธีสำคัญในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ต่อผลกระทบจากความร้อนจัด ได้แก่ เด็ก, ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความพิการบางประการ.

เครดิตภาพ : AFP