สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ว่า ธนาคารพัฒนาเอเชียรายงานว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย กำลังเข้าสู่วัยชราอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุในบรูไนจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ในอีก 16 ปีข้างหน้า

รายงาน “สูงวัยอย่างดีในเอเชีย” ซึ่งจัดทำโดยเอดีบี ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งในเอเชียและแปซิฟิก อาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในปี 2593 ที่ 1,200 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความต้องการเงินบำนาญ, สวัสดิการ และบริการทางสุขภาพ

มากไปกว่านั้น เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งในเอเชีย กำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ความเร็วของการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัย คำนวณจากจำนวนปีของส่วนแบ่งสัดส่วนผู้สูงอายุ โดยนอกจากบรูไน ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 16 ปี สิงคโปร์จะใช้อีก 17 ปี ขณะที่ในไทย จะใช้เวลาอีก 18 ปี และเกาหลีใต้อีก 19 ปี ขณะที่มัลดีฟส์จะใช้เวลาอีกเพียง 13 ปี ส่วนอาเซอร์ไบจาน, ภูฏาน และปาเลา จะใช้เวลาเปลี่ยนผ่านถึง 21 ปี

มีการคาดการณ์ว่าประเทศอื่น ๆ อีก 38 ประเทศ จะมีการเปลี่ยนผ่านภายในปี 2593 และจำนวนประชากรสูงวัยจะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายในเอเชีย รวมไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและดุลการคลัง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิกยังมีโอกาสได้รับเงินปันผลในรูปแบบของผลผลิตจากผู้สูงวัย ซึ่งอาจช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในภูมิภาคได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 0.9

นายอัลเบิร์ต ปาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี ระบุว่า “การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเอเชียและแปซิฟิกถือเป็นเรื่องราวความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ครั้งใหญ่ และความกดดันที่เพิ่มสูงขึ้น”

เขาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อช่วยให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนในภูมิภาคมีชีวิตสูงวัยที่ดี “นโยบายของรัฐควรสนับสนุนการลงทุนตลอดชีวิตในด้านสุขภาพ, การศึกษา, ทักษะ และการเตรียมความพร้อมทางการเงิน เพื่อการเกษียณ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม ยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและสร้างประสิทธิภาพของผู้สูงอายุ และเพิ่มการมีส่วนร่วมในสังคม”

รายงานเปิดเผยว่า ร้อยละ 40 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในเอเชียและแปซิฟิก ไม่สามารถเข้าถึงเงินบำนาญทุกรูปแบบ โดยสตรีสูงอายุได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพวกเธอมีแนวโน้มที่จะทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทำงานเกินวัยเกษียณเพื่อความอยู่รอด

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ต้องทำงานนอกระบบมากถึงร้อยละ 94 และพวกเขาไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิประโยชน์บำนาญ

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังส่งผลให้เกิดความท้าทายด้านสุขภาพกายและจิตใจตามอายุอีกด้วย โดยการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 60 ในเอเชียและแปซิฟิก ไม่เข้าร่วมหรือรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ขณะที่อีกร้อยละ 31 มีอาการซึมเศร้าอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย, การแยกตัวทางสังคม และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

ขณะที่สตรีสูงอายุในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีแนวโน้มประสบปัญหาสุขภาพไม่ดี มากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย อันเนื่องมาจากภาวะซึมเศร้า, เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ตาม รายงานได้แนะนำมาตรการเชิงนโยบายที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี และความมั่นคงทางการเงิน เช่น การประกันสุขภาพและแผนบำนาญที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ และการจัดให้มีการตรวจสุขภาพ และประเมินผลการใช้ชีวิตประจำปีฟรี

มากไปกว่านั้น ผู้กำหนดนโยบายควรมุ่งเป้าไปที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานควรขยายไปยังแรงงานสูงอายุนอกระบบ

โดยสรุป เศรษฐกิจในภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของผู้สูงอายุในระยะยาวได้ หากมีการเพิ่มความยืดหยุ่น, การส่งเสริมสุขภาพที่ดี และการมอบโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดให้มีการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะตลอดชีวิต.

เครดิตภาพ : AFP