เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมพิธีมอบรางวัล “ครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดย ทุนการกุศลสมเด็จย่า “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการโครงการรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมชั้น 10 อาคารมูลนิธิ พอ.สว. กรุงเทพมหานคร

นายธนากร กล่าวว่า “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เป็นรางวัลที่พิจารณามอบให้ครูที่มีความเสียสละ ทุ่มเท และตั้งใจในการปฏิบัติงาน สำหรับผู้ด้อยโอกาส เด็ก เยาวชนและประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาเด็ก เยาวชนและประชาชนให้เป็นคนดีและคนเก่งตามพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งครูทุกท่านที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นับเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างที่สุดทั้งแก่ตนเอง ครอบครัวและหน่วยงานบังคับบัญชาอย่างแท้จริง ในนามของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ขอแสดงความยินดีกับครูผู้เสียสละทุกๆ ท่าน ที่ทำหน้าที่ “ครูที่เป็นมากกว่าครู” ด้วยความชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้แก่คุณครูที่ทำงานด้วยอุดมการณ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่รอบด้านและเป็นมากกว่าการจัดการเรียนรู้และการศึกษา คือ การส่งเสริมทักษะชีวิต การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งต่อตนเอง สังคมและชุมชนให้มีการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์หลายคนกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดเมื่อจบการศึกษาแล้วอีกด้วย ซึ่งสมควรได้รับการเผยแพร่คุณงามความดีและยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างการทําความดีในสังคมต่อไป ขอขอบคุณโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมาย ขอขอบคุณคณะท่านผู้บริหาร ที่มีส่วนส่งเสริม สนับสนุน ให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนครู สกร. และครูสังกัดอื่น ที่เป็นฟันเฟืองในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ขอให้ครูทุกท่านรักษาคุณงามความดีเช่นนี้และเป็นแบบอย่างในการทำความดีให้ปรากฏแก่ครู ผู้เรียน และประชาชนตลอดไป

สำหรับ ครูในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ได้รับ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2567 (รุ่นที่ 16) มีจำนวน 3 คน ดังนี้ 1. นางสาวรุจรวี จันทะนุง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านพะละดอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยเป็นครูผู้เสียสละ ทำงานอุทิศตนสอนหนังสือให้กับผู้เรียนบนดอยสูงในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล มานานกว่า 21 ปี เป็นครูผู้สร้างและพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนกลุ่มชาติพันธุ์ในทุกช่วงวัย ด้วยความมานะ บากบั่น และพัฒนาสถานศึกษาจนเป็น ศศช. ต้นแบบ ในด้านจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้กับชุมชน การพัฒนาอาชีพ ทักษะชีวิตและชุมชนร่วมกับเครือข่าย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนได้รับรางวัลระดับประเทศจำนวนมาก

2. นางสาวสุกัญญา ป่าธะนู ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่พร้าว ลป.8 ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นครูผู้เสียสละสอนหนังสือ ให้กับผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดารมานานกว่า 13 ปี มีความทุ่มเท เสียสละในการส่งเสริมและพัฒนาสังคม ชุมชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ด้วยการน้อมนำหลักทรงงานตามศาสตร์พระราชา เป็นแนวปฏิบัติด้วยการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำด้านการเกษตรของชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมโดยการสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานในพื้นที่เกษตรของชุมชน สามารถแก้ไขการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรช่วงฤดูแล้ง เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน และเป็นครูผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชนเผ่าบูรณาการกับการส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

3. นางสาวมุนา โตะแวอายี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกะพ้อ ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เป็นครูที่มีความทุ่มเท เสียสละ ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอันตราย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มานานกว่า 21 ปี มีความโดดเด่นในการริเริ่มนวัตกรรมการจัดทำแบบเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย โดยประยุกต์บริบทและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน จนเผยแพร่ไปสู่ภายนอกอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นครูผู้ส่งเสริมอาชีพให้กับผู้เรียนจนเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับการยอมรับจากผู้เรียนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง

โดยครูเจ้าฟ้าทั้ง 3 ท่าน ได้กล่าวความถึงรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ รางวัลนี้นับว่าเป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจอย่างยิ่งในชีวิต ขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนับสนุนทุกภาคส่วนของรางวัลนี้ แม้ในพื้นที่ที่เราปฏิบัติหน้าที่นั้นจะเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร และเสี่ยงภัยอันตราย แต่ก็พร้อมที่จะยืนหยัดเพื่อทำหน้าที่ครูต่อไปด้วยความอุตสาหะ จะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับความภาคภูมิใจและเกียรติที่ได้รับในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถหากวันใดรู้สึกสิ้นหวังจะหันมามองรางวัลครูเจ้าฟ้าที่ได้รับ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจของชีวิตต่อไป