ที่ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์  หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ  ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางวิภาวรรณ เบนนิเมน อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เข้าร่วมประชุมและหารือข้อราชการกับนายบวร์กฮาร์ด บลีเนิร์ท กรรมาธิการของรัฐบาลกลางเยอรมนี ด้านนโยบายยาเสพติดและการติดยาเสพติด ณ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเบอร์ลิน

ในการหารือฯ ดังกล่าว กรรมาธิการของรัฐบาลกลางเยอรมนี ด้านนโยบายยาเสพติดและการติดยาเสพติด ได้ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก สำหรับประเทศเยอรมนีนั้น ประชากรประมาณ 4 ล้านคน เป็นผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดการพนัน และผู้ติดยาเสพติด ดังนั้น รัฐบาลเยอรมนีจึงให้ความสำคัญกับการบำบัดผู้ติดสิ่งเสพติดเหล่านี้ มากกว่าการลงโทษ เนื่องจากมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา โดย 4 เสาหลักสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด ได้แก่ 1) การป้องกัน 2) การบำบัด 3) การลดความเสี่ยงโดยมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) 4) การลดจำนวนยาเสพติด ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

ขณะที่คณะผู้แทนไทย ได้ให้ความสนใจสอบถามในหลายประเด็น โดยเฉพาะสถานะของกัญชาในเยอรมนี ซึ่งกรรมาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า กัญชาถูกถอดจากรายชื่อสารเสพติดตามกฎหมายแล้ว การปลูกและครอบครองกัญชาจำนวนน้อย (25 กรัม) หรือ การปลูกต้นกัญชา 3 ต้น (50 กรัม) ไม่ผิดกฎหมาย ถ้ามีจำนวนมากกว่านั้นไม่ได้ผิดกฎหมายและการค้าขายกัญชายังคงผิดกฎหมายอยู่ และเนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญกับสุขภาพเห็นว่าการออกกฎหมายที่เป็นการห้ามทั้งหมดไม่สามารถแก้เรื่องเสพติดที่เป็นโรคชนิดหนึ่งได้ จึงได้กำหนดมาตรการทางสุขภาพไว้ด้วย สำหรับการแก้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ทางรัฐบาลเยอรมนีใช้เวลาเตรียมการประมาณ 2 ปี โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการทำคำวินิจฉัยของศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

จากนั้นคณะของ พ.ต.อ.ทวีได้เข้าหารือกับคุณแอนเนค โกรท ผู้จัดการศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Vista Berlin (Kreuzberg) ในการหารือฯ ดังกล่าว รมว.ยุติธรรมได้สอบถามถึงบทบาทขององค์กรเอกชนในการมีส่วนร่วมจัดการและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องจากไทยมีขนาดใกล้เคียงกับเยอรมนี จึงขอแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมท้้งขอคำแนะนำเพื่อหาแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้กับประเทศไทยได้

โดยผู้จัดการศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Vista Berlin (Kreuzberg) ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานขององค์กรว่า ศูนย์ฯ เป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนี โดยปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน ส่วนมากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และนักสาธารณสุข ทำหน้าที่ให้บริการทั้งหมด 15 จุด ทั่วกรุงเบอร์ลิน โดยเฉลี่ยจะมีการให้คำปรึกษาและบำบัดมากกว่า 8,000 ราย ต่อปี ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดที่พบส่วนมากเป็นปัญหาการเสพติดนิโคติน แอลกอฮอล์ เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) และเฮโรอีน

สำหรับการบำบัดผู้เสพยาเสพติดนั้น เยอรมนี จะเน้นการบำบัดแบบให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว และเป็นช่องทางที่ช่วยให้เข้าถึงผู้เสพได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้เสพสามารถเข้าถึงการบำบัด หรือเสพยาเสพติดอย่างปลอดภัยได้ นอกจากนั้น องค์กรยึดมั่นในหลักการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) จึงมีนโยบายในการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ในกรณีที่ต้องการปกปิดตัวตน ผู้เสพยาเสพติด โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ปกครองสามารถเข้ารับบริการแบบนิรนามได้เช่นกัน