สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่าองค์การอวกาศยุโรปเผยแพร่ภาพชุดที่ 2 จากกล้องยูคลิด โดยมีภาพกระจุกกาแล็กซีที่ส่องแสงเป็นจำนวนมาก, เนบิวลาสีม่วงและส้ม และกาแล็กซีกังหันที่รูปร่างคล้ายกับทางช้างเผือก

นับตั้งแต่ออกเดินทางไปจากโลก เมื่อปี 2566 กล้องยูคลิดจะมีเวลา 6 ปี ในการตรวจสอบความลึกลับของสสารมืด และพลังงานมืด ตามเป้าหมายในการสร้างแผนที่กาแล็กซี 2,000 ล้านแห่ง หรือ 1 ใน 3 ของท้องฟ้า

นายเรเน ลอเรจส์ นักวิทยาศาสตร์จากโครงการยูคลิด กล่าวว่า เขารู้สึก “ตื่นเต้นมากที่สุด” กับภาพของกระจุกกาแล็กซีขนาดมหึมาที่เรียกว่า “เอเบลล์ 2390” ซึ่งเป็นภาพของกระจุกดาวซึ่งห่างจากโลก 2,700 ล้านปีแสง ครอบคลุมกาแล็กซีมากกว่า 50,000 แห่ง ซึ่ง 1 กาแล็กซีสามารถเป็นบ้านของดาวฤกษ์นับแสนล้านดวง หรือมากกว่าล้านดวงได้

นายเจสัน โรดส์ เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ระบุว่า เอเบลล์ 2390 เพียงแห่งเดียว อาจมีดวงอาทิตย์ประมาณ 10 ล้านล้านดวง และในภาพยังแสดงให้เห็นถึงสสารมืด ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ แต่สามารถตรวจจับได้จากการสังเกตว่า แรงโน้มถ่วงของมันบิดเบือนแสงอย่างไร “มีสสารมืดมากมายในกระจุกดาวนี้ จนทำให้แสงจากดวงดาวด้านหลังบางดวงโค้งงออย่างรุนแรง” เชื่อกันว่าสสารมืดและพลังงานมืด มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 95 ของจักรวาล แต่มนุษย์แทบไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับมัน

มากไปกว่านั้น ภาพของเอเบลล์ 2390 ยังสื่อเป็นนัยถึงสสารมืด ด้วยการเผยให้เห็นแสงสลัวของ “ดวงดาวกำพร้า” ที่ลอยอยู่ระหว่างกระจุกกาแล็กซี “ดาวเหล่านี้ถูกผลักออกจากกาแล็กซีสร้างเมฆชนิดหนึ่ง ที่ล้อมรอบกระจุกดาวทั้งหมด” นายฌอง-ชาร์ลส์ กุยลองเดร นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ระบุ ทั้งนี้ กลุ่มนักดาราศาสตร์เชื่อว่า ปรากฏการณ์ประหลาดเหล่านี้ บ่งบอกถึงการมีอยู่ของสสารมืดระหว่างกาแล็กซี

นอกจากนี้ ยูคลิดได้จับภาพลึกที่สุดที่เคยมีมาของแมสซายเออร์ 78 แหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ ที่ให้กำเนิดดวงดาวในกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 1,300 ปีแสง ดวงดาวบริเวณกึ่งกลางสีน้ำเงินของภาพยังคงอยู่ในกระบวนการก่อตัว และหลังจากกระบวนการก่อตัวเป็นเวลาหลายล้านปี พวกมันจะโผล่ออกมาจากเมฆสีม่วง และสีส้มที่ด้านล่างของภาพ

“มีเพียงกล้องยูคลิดเท่านั้นที่สามารถจับภาพสิ่งเหล่านี้ได้ในครั้งเดียว” ลอเรจส์กล่าวย้ำ ซึ่งมันเป็นเพราะยูคลิดมีทัศนวิสัยที่กว้างขวางมาก ตรงกันข้ามกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศอื่น ๆ อย่างเจมส์ เว็บบ์ ที่อยู่ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร

ภาพกระจุกกาแล็กซีขนาดใหญ่ “เอเบลล์ 2764” แสดงให้เห็นพื้นที่สีดำซึ่งมีดาวสีเหลืองโดดเด่นดวงหนึ่ง นายกุยลองเดรยอมรับว่ามันเป็นผลมาจากข้อผิดพลาดในการถ่ายภาพ แต่ภาพนี้แสดงให้เห็นถึง “ความสามารถเฉพาะในการรวมแสงของกล้องยูคลิด” เพราะมันสามารถจับวัตถุที่จางมาก ซึ่งอยู่ถัดจากดาวฤกษ์ที่สว่างได้

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ภาพกระจุกดาวโดราโดวัยเยาว์จากกล้องยูคลิดมีความน่าประหลาดใจ แม้มันจะได้รับการศึกษามาอย่างดีแล้ว แต่ยูคลิดก็ค้นพบกาแล็กซีแคระที่ไม่เคยเห็นมาก่อน “ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” นายกุยลองเดรกล่าว

ในภาพที่ 5 กาแล็กซีกังหัน “เอ็นจีซี 6744” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับทางช้างเผือกอย่างน่าทึ่ง แผ่กระจายโดยมีดวงดาวส่องแสงเป็นฉากหลัง

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงวันแรกของภารกิจ และภาพใหม่ทั้ง 5 ภาพได้ถูกถ่ายไว้ภายในวันเดียว โดยภายในไม่กี่ปีข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะกรองข้อมูลจากกล้องยูคลิด และมีความหวังว่า จะค้นพบเทหวัตถุในท้องฟ้า หรือวัตถุในอวกาศทุกประเภท เช่น ดาวเคราะห์กำพร้า ซึ่งลอยอย่างอิสระผ่านจักรวาลโดยไม่เชื่อมต่อกับดาวฤกษ์

ขณะที่ภาพถ่ายชุดแรกของกล้องยูคลิดได้ผ่านการวิเคราะห์โดยนักวิจัย ภายหลังการเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. 2566

ทั้งนี้ ในรายงานล่าสุดที่มีการเผยแพร่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบดาวเคราะห์กำพร้า ในกระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุส “ขณะนี้ ดวงดาวที่หายสาบสูญติดอยู่ในแรงโน้มถ่วงของสสารมืด” ลอเรจส์อธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเพียงการตรวจจับสสารมืด “ทางอ้อม” และเขาระบุเพิ่มเติมว่า มันยังเร็วเกินไป ที่จะกล่าวถึงพลังงานมืด เนื่องจากภารกิจสำรวจสสารมืดยังคงไม่ราบรื่นนัก

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นักวิจัยประสบความสำเร็จ ในปฏิบัติการละเอียดอ่อนเพื่อละลายชั้นน้ำแข็งบาง ๆ ซึ่งบดบังการมองเห็นของกล้องโทรทรรศน์ ด้วยการทำให้กระจกของกล้องยูคลิดอุ่นขึ้น “มีสัญญาณว่าน้ำแข็งกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง” ลอเรจส์กล่าว พร้อมเสริมว่า ทีมงานยังมีเวลาในการตรวจสอบ ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป.

เครดิตภาพ : AFP