เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) นำคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลังการปฏิรูประบบ ววน. ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุน ววน. ขึ้น โดยมี กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า กสว. ได้อนุมัติงบประมาณ แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ในประเด็น “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยใช้งบประมาณ 2 ปี รวมจำนวน 155,000,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 77,700,000 บาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 77,300,000 บาท รวมทั้งให้ทุนแก่หน่วยงาน/นักวิจัยตามโจทย์สำคัญเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการอนุมัติแผนงานสำคัญเร่งด่วนและงบประมาณให้ทันต่อสถานการณ์มองทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว สำหรับการนำผลงานวิจัยไปใช้ในสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน ววน. ไปช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

“ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”

ขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่า ฝุ่นควันต่างๆ งานวิจัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดข้อถกเถียงของวิธีแก้ไขที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างปฏิบัติงาน อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยได้ช่วยให้มีบทสรุปขององค์ความรู้ วิธีดำเนินการ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับบริบทของพื้นที่ ชีวิตของคนในชุมชน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแบบที่ทุกภาคส่วนต้องการ ดังนั้น เมื่อพื้นที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่ เชิญหลากผู้รู้จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์องค์ความรู้ที่มีร่วมกัน จนนำไปสู่การลงมือปฎิบัติจริง นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยให้หลากผู้รู้ยอมรับว่าการตกผลึกขององค์ความรู้ว่าทางออกที่แท้จริงของพื้นที่คืออะไร

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำ และขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน. ไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สกสว. พร้อมนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกสว. โดยกองทุน ววน. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณวิจัยในประเด็นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ปฏิบัติการ จ.เชียงใหม่  ภายใต้งบประมาณปี 2566-2567 เป็นงบประมาณวิจัยปีละกว่า 70 ล้านบาท รวม 2 ปี 150 ล้านบาท โดยพิจารณาอนุมัติงบประมาณเป็นแบบรายปี จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 43,050,000 บาท และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 34,650,000 บาท โดยมุ่งขับเคลื่อน 4 มิติเร่งด่วน ดังนี้ 1.โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า มากกว่าเดิมด้วยกลไกการตอบแทนคุณนิเวศ 2.การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า-ปัญหาฝุ่นควันที่แต่เดิมมีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำๆ และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม และ 3.การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม/วิธีทำเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าเดิม และ 4.การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า ขณะนี้ (ร่าง) พ.ร.บ.อากาศสะอาด อยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นกระบวนการนี้ต้องการข้อมูลงานวิจัยมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ และครบถ้วนในทุกมิติ  

“การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้” รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวเสริม