ในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะนัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล มือกฎหมายชั้นพญาครุฑ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ชี้แจงไทม์ไลน์การเมือง ที่น่าสนใจ

ปฏิทินการเมืองเริ่มนับหนึ่งภายหลังรัฐบาลนำ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) ขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา

ระหว่างนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปรับแก้ให้มีเนื้อหา สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขก่อนส่งกลับมาที่ประชุม ครม.ประมาณเดือน พ.ย. 

จากนั้น ครม.ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ก่อนส่งกลับมาที่ ครม.อีกครั้งและนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย

คาดว่าการแก้ปรับแก้กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือน ก.ค. 2565!

ประเด็นที่น่าสนใจมีการประเมินภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดแรงกระเพื่อม 3 เรื่องสำคัญ

 (1) แรงกระเพื่อมเรื่องแรก ทันทีที่ประกาศใช้กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ มือกฎหมายชั้นพญาครุฑ ประเมินจะมีแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร

โดยอ้างเหตุผล พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกฎกติกาฉบับใหม่ที่ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบและเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.จากเดิม ส.ส.แบบแบ่งเขต 350, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน เปลี่ยนกลับไปใช้สูตร ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

(2) แรงกระเพื่อมเรื่องที่สองในช่วงเดือน ส.ค. เป็นจังหวะที่ พรรคฝ่ายค้านจองกฐิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

พรรคฝ่ายค้าน มองว่า หากนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก

เท่ากับ  พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565 ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไ

(3) แรงกระเพื่อมเรื่องที่สาม จากการประเมินในจังหวะที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี  8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นช่วงรัฐบาลใกล้ครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เดือน มี.ค. 2566 ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 167 ประกอบมาตรา 99

ในช่วงนั้นพรรคการเมืองต่างๆ จะเริ่มทยอยเปิดหน้าคนดี-เด่น-ดัง เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคการเมือง ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 

หากไม่มีรายการช็อกซีเนม่า เกิดอุบัติเหตการเมืองครั้งใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี สมัยที่สาม

พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์, พรรคภูมิใจไทย พร้อมเสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ส่วนพรรคเพื่อไทย รอหงายไพ่ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนเปิดคูหากาเบอร์

ฟันธงล่วงหน้าตามกฎ กติกา มารยาท การเมืองแบบไทยๆ เมื่อ กกต. ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากทุกพรรคอย่างเป็นทางการ ทุกคนจะถูกขุดคุ้ยประวัติ โจมตีเพื่อดิสเครดิตทางการเมือง

ทั้งหมดคือภาพ  3 แรงกระเพื่อมทางการเมืองที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้!