นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดใจ ขอทุกฝ่ายร่วมมือทำงาน อย่าใช้เกมสภาไม่ผ่านกฎหมายสำคัญ เพื่อล้มรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องใจร้ายกับประเทศเกินไป

“การถามว่าสบายใจหรือไม่นั้น ผมควบคุมไม่ได้ในสภา เป็นเรื่องของวิปทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต้องคุยกันให้รู้เรื่องว่าเรื่องไหนสำคัญและเรื่องไหนเป็นกฎมายที่จำเป็นต้องออกทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการศึกษา ก็ต้องออก ไม่ใช่ไม่ออกเพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไป” พล.อ.ประยุทธ์

ถอดรหัสจากสัญญาณความถี่สูง รู้เลยนาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มไม่มั่นใจในเสถียรภาพรัฐนาวา ท่ามกลางแรงกระเพื่อมที่ ส.ส.ก๊กต่างๆ เล่มเกมประลองกำลังต่อรองผลประโยชน์การเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนรับบาลครบวาระต้นปี 2566

ทั้งนี้ตามกลไกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ออกแบบรัฐสภาไทยใช้ระบบ 2 สภา ประกอบด้วย (1) สภาผู้แทนราษฎร และ(2) วุฒิสภา มีสมาชิรัฐสภาทั้งสิ้น 750 คน แบ่งเป็น ส.ส.500 คน และ ส.ว. 250 คน

ตามระบบรัฐสภา รัฐบาลบริหารประเทศ โดยใช้เสียงข้างมากสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนงานฝ่ายนิติบัญญัติ

ทว่าหากเมื่อหนึ่งเมื่อใด สถานการณ์พลิก รัฐบาลกลับเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย จะส่งผลให้บริหารประเทศไม่ได้ ไร้เสถียรภาพ ท้ายที่สุดต้องประกาศยุบสภา

ทั้งนี้เมื่อพลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 167 กำหนดชัดเจนถึง 4 ช่องทาง ที่ทำให้คณะรัฐมนตรี ต้องพ้นจากอำนาจตามกลไกประชาธิปไตย

(1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 เช่น ตาย, ลาออก, สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ, ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง, ต้องคําพิพากษาให้จําคุกแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดที่กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

(3) คณะรัฐมนตรีลาออก

(4) พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 คือ เรื่องที่ว่าด้วยการแปรญัตติงบประมาณเพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์ทั้งในทางตรงหรือทางอ้อม

หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีความผิดให้คณะรัฐมนตรี พ้นจากตําแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่ง และให้ผู้กระทําต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

นาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับความจริง แม้มีคนใจร้ายจ้องใช้เวทีสภา ไม่ผ่านกฎหมายสำคัญเพื่อล้มรัฐบาลแต่เป็นวิธีล้มรัฐบาลตามกลไกประชาธิปไตย ที่วัดพลังโดยใช้เสียงโหวตจาก ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชน ซึ่งดีกว่าการใช้อำนาจนอกระบบสั่งทหารแบกปืนขับรถถังออกจากกรมกองไปล้อมทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางอำนาจบริหารประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2475 ตลอด 89 ปี ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานเกิดเหตุรัฐประหารอย่างน้อย 13 คร้ัง ทุกครั้งผู้มีอำนาจอ้างทำเพื่อบ้านเมือง แต่ในมุมกลับทำให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังหลายสิบปี!