เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายคินซัง ดอร์จิ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่  

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตภูฏานฯ ที่มาปฏิบัติหน้าที่ในไทย และหวังว่าเอกอัครราชทูตภูฏานฯ มองไทยเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 รวมถึงทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือระหว่างไทยกับภูฏานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือและการทำงานกับเอกอัครราชทูตฯ อย่างเต็มที่ ขณะที่เอกอัครราชทูตภูฏานฯ ระบุว่า ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น มีสถาบันกษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับ ทั้งนี้ ภูฏานยังยืนยันการยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าและการลงทุน การส่งออกสินค้าเกษตร และความร่วมมือด้านวิชาการ ซึ่งภูฏานต้องการพัฒนาความร่วมมือเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังประเทศไทย  ขณะที่นายกฯยินดีพิจารณายกระดับการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และหวังว่าไทยกับภูฏานจะร่วมกันหาแนวทางเพื่อสนับสนุนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  พร้อมทั้งเชิญชวนให้ภูฏานใช้ประโยชน์จากโครงการ Duty Free, Quota Free (DFQF) ขององค์การการค้าโลก เพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตภูฏานฯ ได้หารือถึงความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลภูฏานสำหรับไมตรีจิตที่มอบวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา 150,000 โด๊ส ให้แก่ไทย บนพื้นฐานที่ไทยจะคืนวัคซีนแก่ภูฏาน รวมถึงขอบคุณรัฐบาลภูฏานที่ได้อำนวยความสะดวกแก่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ ในการจัดเที่ยวบินอพยพเพื่อนำชาวไทยในภูฏานกลับประเทศไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย ด้านเอกอัครราชทูตภูฏานฯ กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม จนทำให้ไทยมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นนำไปสู่นโยบายเปิดประเทศ ซึ่งภูฏานยินดีที่ได้เป็นหนึ่งในประเทศหรือพื้นที่ต้นทางที่ผู้เดินทางสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว

อีกทั้ง ฝ่ายไทยและภูฏานหารือถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านทุนการศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านทุนการศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการส่งอาสาสมัครชาวไทยในโครงการ Friends from Thailand (FFT) และทั้ง 2 ฝ่ายต่างมองว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก แห่งภูฏาน มีความสอดคล้องกัน และสามารถประยุกต์ใช้ในทางที่ส่งเสริมกันได้ โดยเอกอัครราชทูตฯ รู้สึกชื่นชมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูฏาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่า การมีส่วนร่วมและความร่วมมือของไทยจะช่วยให้ภูฏานบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และวิสัยทัศน์ระดับชาติของความสุขมวลรวมประชาชาติ

สำหรับความร่วมมือระดับพหุภาคี นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสําหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และจะทำงานกับประเทศสมาชิกทั้งหมดอย่างใกล้ชิด เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม โดยตั้งเป้าพัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวโดยการบูรณาการโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์