นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 วงเงินโครงการรวมกว่า 2,864 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-5 พ.ย.64 พบว่าไม่มีเอกชนสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request for Proposal : RFP) สักราย สาเหตุคาดว่าขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 ทำให้ด่านพรมแดนปิด ซึ่งไม่รู้ว่าจะปิดนานแค่ไหน ทำให้ไม่มีความแน่นอน เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และ จีนด้วย 

ขณะเดียวกันโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผลต่อการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าหมือนกัน เพราะรถไฟจะเป็นตัวสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง เพื่อมาสู่ต้นทุนที่ถูกกว่า หากมีความชัดเจนจะทำให้เอกชนสามารถคำนวนผลประกอบการได้ อย่างไรก็ตามภายในเดือนนี้ ขบ. จะประชุมคณะกรรมการคัดเลือกที่เชิญชวนเอกสารร่วมลงทุนตามโครงการดังกล่าวเพื่อพิจารณา 2 ทางเลือก คือ 1.ปรับปรุงเงื่อนไข RFP เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมมากกว่านี้ และ 2.เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนใหม่อีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป    

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการนี้เอกชนจะร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน และค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ทั้งหมด รวมทั้งผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ  

ขณะนี้โครงการดังกล่าวในระยะ (เฟส) แรกก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อเก็บสินค้าแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 64 ปัจจุบันมีเอกชนใช้บริการในการขนส่งสินค้าบ้าง แต่ยังมีน้อย เนื่องจากมีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านรุนแรง ทำให้ด่านพรมแดนปิด ไม่สามารถขนส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว และจีนได้ หรือถ้าขนส่งได้มีปริมาณขนส่งสินค้าน้อยและยังเงียบอยู่ หากอนาคตสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เปิดด่านพรมแดน อนุญาตให้ขนส่งสินค้าได้เหมือนเดิมอย่างเต็มรูปแบบ ปริมาณการขนส่งมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ 

ขณะเดียวกัน ขบ. เตรียมของบประมาณในปี 66 วงเงิน 660 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างในเฟส 2 ในการพัฒนาพื้นที่ลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้เปล่า และตู้ที่บรรจุสินค้าแล้ว (Container Yard) สำหรับการวางตู้คอนเทนเนอร์ รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งกับทางราง และสอดคล้องกับการเปิดบริการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 68  

ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เชียงของ ประชิดด่านพรมแดนเชียงของ และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) บนเนื้อที่กว่า 335 ไร่ ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศไปสู่ภายในประเทศ รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีนฝั่งตะวันตก (นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน) รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จ.เชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภาคเหนือ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า