เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 39) ซึ่งมีสาระสำคัญที่ว่า โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยในห้วงเวลา ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการสำหรับการดำเนินกิจกรรมกิจการต่างๆ ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมดำเนินควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างสมดุล เข้มแข็ง และยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติ อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนำ 2019 (ศบค.) โดยการปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม และการยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเฉพาะเหตุโดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 30 พ.ย.2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการควบคุมและป้องกันโรคสำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ ช่วยเหลือและให้การสนับสนุนการเตรียมการของผู้ประกอบการ ตามความเหมาะสมและตามกรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวมีความพร้อมสำหรับการเปิด ให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะสถานบริการหรือสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยวหรือในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยรัฐบาลจะได้พิจารณาความเหมาะสมจากข้อมูล การประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข เพื่อให้มีการดำเนินการตามแผน นโยบาย และตามกรอบเวลาที่กำหนดต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 เป็นต้นไป

ดูประกาศ

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ที่ 22/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมีสาระสำคัญที่เป็นการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวฉบับใหม่ ซึ่งพื้นที่ควบคุมสูงสุดมีจำนวน 23 จังหวัด พื้นที่ควบคุม มี 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูงมี 24 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวมี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี กระบี่ กาญจนบุรี ปทุมธานี พังงาและภูเก็ต

ดูประกาศ