โดย “เสี่ยนิด” ประกาศทำตามสัญญากับ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต  เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าใน ไตรมาสที่ 3 และเริ่มต้นโครงการในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยจะให้ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน ใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6%

ซึ่ง นายลวรณ  แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าจะเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยวงเงิน 5 แสนล้านบาท บริหารจัดการผ่านงบประมาณ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท 2.ใช้เงินจาก มาตรา 28  ของกรอบวินัยการเงิน จาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท 3.บริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท

ส่วน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุ แนวทางและเงื่อนไข  1. เป้าหมายประชาชน 50 ล้านคน คนเกินอายุ 16 ปี ไม่มีเงินได้เกิน  840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท เป็นเกณฑ์เดิม 2.เงื่อนไขการใช้จ่ายประชาชนกับร้านค้า ในพื้นที่อำเภอ ร้านค้าขนาดเล็กที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น 3.ร้านค้ากับร้านค้าไม่กำหนดพื้นที่ ไม่กำหนดขนาดของร้านค้า การใช้จ่ายได้หลายรอบ การเปลี่ยนแปลงรอบที่ 1 เป็นของประชาชนกับร้านค้า สินค้าทุกประเภท ไม่รวมสินค้าอบายมุข สินค้าออนไลน์ น้ำมัน  4.ใช้ระบบพัฒนาขึ้นเองโดยสำนักงานพัฒนาดิจิทัล ร่วมดีอี ทำ ซูเปอร์แอป ใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น 5.คุณสมบัติร้านค้าที่ถอนเงิน ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีรายได้พึงประเมิน เป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขาย การถอนเงินสด ถอนทันทีไม่ได้ ต้องถอนหลังจากใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป ลดความเสี่ยงทุจริต เพิ่มผลกระตุ้นเศรษฐกิจ 6.ประชาชนร่วมโครงการไตรมาส 3 ปี 2567 ใช้จ่ายไตรมาส 4 ปี 2567

หลังรัฐบาลคิกออฟไม่กี่นาที ก็เกิดการตั้งคำถามมากมาย อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ออกมาไล่บี้แจงแผนใช้เงินให้ชัด ไม่ใช่แค่หาแหล่งที่มางบฯให้ครบจำนวน ร้านสะดวกซื้อจะรวมอยู่ในร้านค้ารายเล็กที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการหรือไม่ รายละเอียดยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลไกยุ่งยากในการแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดคือต้องใช้ 2 รอบ จึงแลกเป็นเงินสดได้ แลกได้เฉพาะร้านที่อยู่ในฐานภาษีอาจทำให้ร้านค้ารายย่อยตัวจริง ไม่อยากเข้าร่วม เพราะลำบากแลกมาแล้วยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ และถ้าร้านค้ารายเล็กร่วมโครงการน้อย การให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับฐานรากน่ากังวลใจ ผลกระทบที่จะตามมาคือหนี้สาธารณะ เอาเฉพาะการขยายวงเงินงบฯ ปี 2568 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ 67% แล้ว ยังมีภาระดอกเบี้ยแต่ละปีเพิ่มเป็น 11% ของรายได้ เท่ากับเก็บภาษีมาเท่าใดเอาไปจ่ายดอกเบี้ยหมด เป็นคอขวดสำคัญที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป รัฐบาลชุดต่อไปต้องมาแบกรับภาระหนี้จ่อคอหอยที่จะชนเพดาน 70% พร้อมแนะนำยื่นถามคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณียืมเงิน ธ.ก.ส. ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ซึ่งรัฐบาลต้องตอบคำถามนี้ให้ดีว่า …โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมาสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ สุดท้าย …ใครได้ประโยชน์?  ใครเป๋าตุง? กันแน่.