หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ได้สร้างผลกระทบไว้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะด้านรายได้ เนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อสกัดยับยั้งการแพร่กระจายของเชื่อ จนสะเทือนกิจกรรมทางเศรษบกิจต้องหยุดชะงัก ยิ่งเป็นภาคการท่องเที่ยวยิ่งได้รับผลกระทบหนักจากไม่มีนักท่องเที่ยวเหมือนที่เคยเป็นมา จึงทำให้ประเทศไทยมีคนตกงาน คนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีมุมมองในเรื่องนี้ว่า ต้องติดตามการว่างงาน หากดูข้อมูลไตรมาส 3 ปี 64 อัตราว่างงานอยู่ที่ 2.3% ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่สำหรับอัตราการว่างงานในช่วงโควิด-19 และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 50 หรือรอบ 14 ปี โดยจำนวนคนทำงานต่ำระดับ และคนเสมือนว่างงานได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก

ยรรยง ไทยเจริญ

อีไอซีคาดว่าตลาดแรงงานไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน จากคนว่างงานและคนทำงานต่ำระดับที่มีจำนวนมาก, กำลังในการจ้างงานของภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ถดถอยลง และปัญหาทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการจากประเภทงานและทักษะแรงงานที่ต้องการที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19

ทั้งนี้แนวโน้มตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จะส่งผลต่อความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลาง

นอกจากนี้ได้ประเมินเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีในปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เป็นการฟื้นตัวจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ตามการเติบโตของการค้าและเศรษฐกิจโลก และทิศทางการท่องเที่ยวไทยดีขึ้นคาดว่าปี 65 จะมีจำนวนต่างชาติเที่ยวไทย 5.9 ล้านคน โดยยังต้องติดตามการระบาดของโควิดโอไมครอนที่จะกระจายมากขึ้น หรือประสิทธิภาพวัคซีนลดลงหรือไม่

เบื้องต้นได้คาดว่าโอไมครอนจะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า เพราะการฉีดวัคซีนไทยและทั่วโลกมีอัตราสูงกว่าเดิม ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากเหมือนเดิม ขณะที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความพร้อมในการปรับตัวต่อสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และออนไลน์ต่าง ๆ ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ แม้ในระยะสั้นจะมีการฟื้นตัวจากการใช้จ่ายกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่อัดอั้นมาก่อนหน้านี้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวในภาพรวมจะยังเป็นไปอย่างช้า ๆ จากผลของร่องรอยแผลเป็นเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของภาครัฐ คาดว่าจะยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินในส่วนที่เหลือ 2.6 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวได้ 1.1% โดยมีแนวโน้มการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศหลังเปิดเมืองและเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ และภาครัฐยังมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น เพิ่มเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 3, การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม และโครงการคงการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี เป็นต้น ซึ่งจะมีผลสนับสนุนการใช้จ่ายในช่วงปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกขยายตัวตามการค้าโลก คาดปีนี้ส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 16.3%