นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 65 ครั้งที่ 1 โดยมีปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มขึ้น 20,700 ล้านบาท จากเดิมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 วงเงิน 1,344,783 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,365,483 ล้านบาท แยกเป็น แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล อยู่ที่ 1,203,425 ล้านบาท ไม่มีปรับเพิ่มขึ้น แต่ไปปรับตรงแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นอีก 700 ล้านบาท และแผนก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ ปรับวงเงินเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท

สำหรับวงเงินการก่อหนี้ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 700 ล้านบาท คือ แผนเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 200 ล้านบาท และ แผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานธนานุเคราะห์ 500 ล้านบาท ส่วนอีก 20,000 ล้านบาท เป็นแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับเพิ่มเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ยังปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม มีวงเงิน 1,536,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,588 ล้านบาท แยกเป็น แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 52,793 ล้านบาท โดยปรับลดวงเงินที่กระทรวงการคลังกู้มาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ลง 7,207 ล้านบาท และไปเพิ่มวงเงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบ 66-69 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยออกพันธบัตรรัฐบาล 60,000 ล้านบาท ขณะที่แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ ลดลง 21,204 ล้านบาท

ส่วนแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มจาก 339,291 ล้านบาท เป็น 362,233 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22,941 ล้านบาท แยกเป็น แผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 22,941 ล้านบาท ส่วนแผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของหน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย ไม่เปลี่ยนแปลง โดยในการดำเนินการทั้งหมดตามแผนแผนการบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประมารการณ์หนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 62.16% ไม่เกินกรอบ 70%

“นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเรื่องความเหมาะสมและความสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเงินกู้ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครม. ได้ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงินวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ”

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 66 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74% โดยยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จำนวน 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 5,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.71% คิดเป็นสัดส่วน 3.89% พร้อมกันนี้ ยังประเมินรายได้สุทธิจำนวน 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.75% ซึ่งเป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 66 – 69) ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา