จากกรณีที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเครือข่ายต่างๆ ระดมกำลังเข้ารักษาช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ‘คุณปู่ป่าละอู’ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10-11 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีบาดแผลบริเวณลำตัวหลายจุด โดยเป็นบาดแผลจากการต่อสู้และถูกยิงหลายแห่ง แผลค่อนข้างลึก ติดเชื้อในกระแสเลือดระดับรุนแรง มีหนองไหลจากแผลบริเวณท้ายลำตัว ร่างกายอ่อนแอ ซูบผอม ประกอบกับเป็นช้างป่าที่อายุมากแล้ว อาการจึงอยู่ในภาวะวิกฤติ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ทีมสัตวแพทย์ นำโดย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากส่วนกลางของกรมอุทยานฯ ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3(ประทับช้าง) ทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย ทหารหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทย และ นายประจิน เสียงเพราะ รองนายกอบต.ป่าเด็ง เข้าร่วมประชุมวางแผนให้การช่วยเหลือ ที่ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ณ ป่าละอู และมีลงพื้นที่ติดตามอาการ รักษาช้างป่า ‘คุณปู่ป่าละอู’ บริเวณบ้านป่าแดง ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำกระหร่าง 3 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หมู่ 3 ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เริ่มปฏิบัติการในช่วงเวลา 14.00 น. ทำการวางยาซึม เพื่อทำการรักษา แต่ด้วยสภาวะร่างกายของช้างป่าจากผลการตรวจเลือดครั้งที่แล้ว พบว่าช้างป่าค่อนข้างอ่อนแอ มีภาวะติดเชื้อทั่วร่างกาย โลหิตจาง ค่าไตและตับขึ้นสูงมาก จึงทำให้การเข้าถึงตัวค่อนข้างมีอุปสรรค หลังจากให้ยา ช้างป่าได้ล้มตัวลงนอนกับพื้น ซึ่งบริเวณที่ช้างล้มตัวนอนนั้นเป็นร่องพื้นภายในป่า การล้มนอนของช้างที่อยู่ในลักษณะที่หัวต่ำกว่าตัวเสี่ยงต่อภาวะสำลักและอาจมีภาวะอื่นๆแทรกซ้อนตามมา อาจทำให้ช้างเสียชีวิตได้ ดังนั้นการทำงานของทีมสัตวแพทย์จึงค่อนข้างเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องทำงานแข่งกับเวลาและต้องมีเฝ้าระวังอาการระหว่างที่ช้างป่าล้มตัวลงนอนอย่างใกล้ชิดเพราะทุกนาทีที่ช้างล้มนอนจากฤทธิ์ยาอาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อช้างป่าได้

การรักษามีการเก็บเลือดเพื่อติดตามสภาวะของร่างกายปัจจุบัน ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง สารน้ำ และยากำจัดปรสิต ซึ่งบาดแผลของช้างที่พบในวันนี้มีหนองลักษณะข้นไหลออกจากบาดแผลที่ด้านหลังทั้ง 2 แผล เป็นโพรงเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อลึกประมาณ 2-3 ฟุต ซึ่งคาดว่าเป็นรอยจากการต่อสู้ ส่วนแผลที่บริเวณหัว และบริเวณกลางลำตัว ตรวจด้วยเครื่องตรวจโลหะพบว่ามีโลหะอยู่ภายในบาดแผลทั่วทั้งร่างกาย โดยทีมสัตวแพทย์ได้ล้างแผลและพบกระสุนปืนภายในบาดแผล จึงได้นำกระสุนออกเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าเป็นกระสุนลูกปืนซองลูก 9 หรือ OO Buckshot

ปฏิบัติการครั้งนี้ ใช้เวลาตั้งแต่ช้างล้มจนทำแผล ให้ยาเสร็จเรียบร้อย ดำเนินการทุกอย่างในภาวะฉุกเฉินได้ครบถ้วน เป็นเวลา 20 นาที ด้วยการทำงานที่เป็นทีม และมีระบบ ช้างป่า ‘คุณปู่ป่าละอู’ สามารถฟื้นตัวและเดินกลับเข้าป่าได้ และหากินปกติ ในคืนนี้จะรอผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินสุขภาพของช้างป่าคุณปู่ป่าละอู โดยวันพรุ่งนี้(22 ม.ค.) จะมีการติดตามอาการของช้างต่อไป ซึ่งการประเมินสภาวะร่างกายของช้าง พบว่าช้างยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเป้าหมายในการรักษาของทีมสัตวแพทย์ในครั้งนี้ คือช่วยให้ช้างพ้นจากภาวะวิกฤติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการวันนี้ พบว่าช้างมีภาวะภูมิตกและมีการอักเสบอย่างรุนแรงทั่วร่างกาย ประกอบกับภาวะขาดน้ำอย่างยาวนานและร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติจึงมีการสร้างเม็ดเลือดขึ้นใหม่เพื่อชดเชยความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้น

สำหรับสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ช้างป่าถูกทำร้าย เกิดจากการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่อาจจะคึกคะนองหรือต้องการไล่ช้างที่ผิดวิธี แต่ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ป่าละอูและป่าเด็ง มีความรักและเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และการแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาช้างในในพื้นที่ก็กำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้คนและช้างป่าอยู่ร่วมกันในสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลเกื้อกูลกัน.