เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ม.ค. ที่บริเวณริมชายหาดแม่รำพึง ตรงบริเวณลานหินขาว หมู่ 1 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ได้มีพนักงานบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม ไฟน์นิ่ง จำกัด ได้นำพนักงานและผู้รับเหมา ประมาณ 200 คน มาทำความสะอาดเก็บขยะริมชายหาดทะเล พร้อมตั้งเต็นท์วอร์รูมบัญชาการ และวาดแผนที่จำลองเหตุการณ์ที่คาดว่าน้ำมันจะไหลเข้ามาบริเวณชายหาด การกักเก็บคราบน้ำมัน โดยนำบูมมากักเก็บคราบน้ำมันยาวหลายกิโล เพื่อป้องกันคราบน้ำมันจะไหลเข้าสู่ชายหาดทะเล

ต่อมาได้มีนางพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายธวัช เจนการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด ปลัดเทศบาลตำบลเพ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่1 (ระยอง) เข้ามาร่วมสังเกตการณ์พร้อมให้การสนับสนุนใช้เรือลากจูงบูมไปกลางทะเล จากนั้นได้นั่งเรือพยูนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อไปดูจัดบริเวณที่คราบน้ำมันที่คาดว่าน่าจะไหลเข้าสู่ชายหาดทะเลและยังเดินทางไปดูจุดบริเวณที่เกิดเหตุการรั่วไหลน้ำมันดิบ ซึ่งห่างชายฝั่งประมาณ 20 ไมล์ทะเล

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการไหลของคราบน้ำมันจากดาวเทียม TerraSAR-X จากโดรน และเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยงานต่างๆ ข้อมูลล่าสุดที่เราทราบคือน้ำมันเข้ามาใกล้ฝั่งมาก แบ่งเป็น 2 หย่อม หย่อมแรกเป็นหย่อมเล็กจะไปทางใกล้บริษัทไออาร์พีซีมากกว่า บริเวณท่าเรือ ขณะที่หย่อมใหญ่กำลังทยอยไหลตามเข้ามา และขึ้นอยู่กับสภาพของท้องทะเล ซึ่งทะเล ณ ตอนนี้ลมค่อนข้างนิ่ง น้ำยังเรียบอยู่ แต่ในช่วงบ่ายของวันนี้น้ำและลมจะเริ่มแรงขึ้น ซึ่งครั้งนี้จะเชื่อได้ว่าน้ำมันก้อนใหญ่ที่จะไหลเข้ามาจะเคลื่อนที่ไปทางตะวันออก และเฉียง พื้นที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือบริเวณหัวโค้งเลยบริษัทไออาร์พีซี ยาวไปถึงก้นอ่าวไปทางบ้านเพ ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่สีส้ม จะอยู่ในพื้นที่ของเกาะเสม็ด บ้านเพ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่สภาพอากาศ

ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า ลักษณะจะแตกต่างจากปี 56 อย่างเห็นได้ชัด ช่วงที่เกิดเหตุนั้นเป็นช่วงที่ลมแรงกว่านี้เยอะ การกั้นในทะเลซึ่งทำได้ยาก ทำให้คราบน้ำมันนั้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งไหลเข้ามารวมกันอยู่ในพื้นที่อ่าวพร้าวเกาะเสม็ดเท่านั้น ซึ่งอ่าวพร้าวนั้นยาวประมาณ 400 เมตร ซึ่งทำให้คราบน้ำมันนั้นรวมตัวกันอยู่ในอ่าว ซึ่งจะทำให้มองเห็นทะเลเป็นพื้นที่สีดำมืด เป็นทะเลน้ำมัน ซึ่งเกิดในช่วง ต.ค. แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดในช่วง ม.ค. ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน ลมในครั้งนี้จะเบากว่า ซึ่งเรามีเวลากักเก็บน้ำมันในทะเล 2-3 วัน เพราะฉะนั้นหย่อมน้ำมันจะกระจายตัวมากกว่า จะกระจายเป็นจุดๆ จะไม่เข้ามาเป็นลักษณะดำมืด หรือ เป็นทะเลดำ ทีเดียวเหมือนกับที่อ่าวพร้าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังค่อนข้างกว้าง การทำงานในทะเลและข้อมูลจากดาวเทียม GISTDA พื้นที่ของแพน้ำมันประมาณ 47 กิโลเมตร เป็นฟิล์มบางๆ ในพื้นที่ด้านนอกยังสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ด้วยวิธีการที่กำจัดมาแล้ว 2 วัน คือการฉีดน้ำยา ทั้งการใช้บูม และ น้ำยา การที่ใช้สารเคมีนั้นต้องใช้ในพื้นที่ที่มีน้ำลึกด้านนอก ซึ่งไม่ใช้ในพื้นที่ที่ใกล้ฝั่ง อีกส่วนหนึ่งต้องรอรับในส่วนด้านในซึ่งเราต้องใช้บูมในการกั้นชายหาด ซึ่งต้องกั้นในส่วนที่พิจารณาแล้ว คาดว่าคราบน้ำมันจะมาบริเวณชายหาด ถ้าตรงไหนเข้าเยอะต้องใช้ในการซับน้ำมัน และกระจายคนในการเข้าไปจำกัดป้องกันชายหาด

“ในส่วนคณะประมงเราได้เก็บตัวอย่างพื้นดิน พื้นทรายในทะเลก่อนเกิดเหตุที่จะมีคราบน้ำมันมาถึง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บมา 2 วันแล้ว ซึ่งเรามีข้อมูลต่างๆ แล้ว และชายหาดเราก็ดำเนินการเก็บตัวอย่างเหมือนกัน ซึ่งบริเวณหาดแม่รำพึงนี้มีหอยเสียบเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะประมงได้เก็บตัวอย่างหลายจุดแล้ว และจะไปประมวลผลว่ามีผลกระทบอย่างไรหลักจากมีคราบน้ำมันเข้ามา ซึ่งสารเคมีจะสะสมไปในพื้นทรายหรือปะการัง 2-3 ปี ต้องศึกษาเป็นระยะยาวต่อไป” ดร.ธรณ์ กล่าว