เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายสุทธิชัย จรูญเนตร ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการกำหนดแผนออกเป็น 8 เรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้แผนการดำเนินงานหลายเรื่องคืบหน้าไปได้ด้วยดี เริ่มเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม คือ 1.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยหลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้เดินสายเพื่อชี้แจงแนวทางและความสำคัญที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต้องอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. 2565 มีสหกรณ์ออมทรัพย์เกือบ 30 แห่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามัญ อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5.30% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำที่สุด อยู่ที่ระดับ 4.50% และ 4.0% ต่อปี นอกจากนั้นพบว่า ครูยังมีหนี้ในส่วนอื่นอีกที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง เช่น หนี้สินเชื่อธนวัฏ (11.5% ต่อปี) หนี้บัตรเครดิต (16% ต่อปี) หนี้บัตรกดเงินสด (24% ต่อปี) หรือหนี้นอกระบบ (15-240% ต่อปี) การแก้หนี้ครูในครั้งนี้จึงออกแบบกลไกที่จะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะเป็นช่องทางที่จะสามารถให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ครูไม่เกิน 3.5-4% อย่างไรก็ตามความพิเศษของการแก้หนี้ครูในครั้งนี้อยู่ที่การมองปัญหา โดยจะดูหนี้สินของครูในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันไม่ให้คุณภาพแย่ลง

2.การปรับลดค่าธรรมเนียม และการค้ำประกันด้วยบุคคล ที่สร้างภาระให้ครูโดยไม่จำเป็น โดยพบว่าครูยังมีภาระค่อนข้างมากที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประกันต่าง ๆ และแม้ครูแต่ละคนจะมีรายได้ในอนาคตมาจากหลายส่วน แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกันของการกู้เงินเลย ทำให้แต่ละปี ครูมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประกัน/ฌาปนกิจสงเคราะห์รวมกันปีละหลายหมื่นบาท สร้างภาระเพิ่มเติมจากดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ประเมินว่าโดยรวมแล้ว ในส่วนของเงิน ช.พ.ค. / ช.พ.ส. รวมทั้งหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่จะนำมาใช้ค้ำประกันได้จากการแก้ปัญหานี้ จะช่วยให้ครูทั่วประเทศสามารถที่จะประหยัดค่าธรรมเนียมประกันรวมกันนับหมื่นล้านบาทต่อปี สำหรับรายได้ในอนาคตส่วนอื่น เช่น เงินบำเหน็จตกทอด, เงิน กบข. จะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง รวมถึง กบข. ว่าจะทำอย่างไรให้รายได้ในอนาคตของครู สามารถนำมาเป็นหลักประกันการกู้ยืม เพื่อลดภาระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมได้อีก ส่วนปัญหาผู้ค้ำประกันในอนาคต เจ้าหนี้ที่จะมาขอให้กระทรวงศึกษาธิการใช้สิทธิตัดเงินเดือนนำส่งหนี้ให้ จะต้องไม่มีข้อกำหนดให้ครูต้องไปหาบุคคลมาค้ำประกันการกู้ของตน และจะต้องไม่ฟ้องล้มละลายครู เพราะผลข้างเคียงของทั้งสองเรื่องนี้มีสูงมาก กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์เรื่องนี้เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

3.การยกระดับระบบสวัสดิการตัดเงินเดือนครูเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาในอนาคต ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงและยกระดับระบบสวัสดิการสินเชื่อตัดเงินเดือนใน 4 มิติสำคัญ คือ (1)กำหนดเงินเดือน/บำนาญที่เหลือหลังจากใช้หนี้  ต้องเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน หรือไม่น้อยกว่า 9,000 บาท (2)การปรับปรุงและยกระดับกระบวนการรับรองการขอกู้ ที่จะมีการควบคุมยอดหนี้ที่ครูจะสามารถกู้ได้ ไม่ให้เกินศักยภาพที่จะชำระหนี้คืนด้วยเงินเดือน (3)สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้หลายรายให้สามารถจะแบ่งปันและตัดเงินเดือนที่มีอยู่จำกัด ให้เจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้ และ (4) การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ ให้ตัดเงินต้นก่อนเป็นลำดับแรก การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยให้การจ่ายชำระหนี้ของครูมีประสิทธิภาพ เงินต้นลดลงอย่างสมเหตุสมผล และจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ครูชำระหนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

4.บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างที่ดี ที่จะเข้าไปช่วยครูไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาหนี้สิน โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้าง จะมีนัยต่อความสำเร็จของการเจรจาอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ครูมีเจ้าหนี้หลายราย ที่การสร้างความตกลงร่วมกันจะยากมากถ้าไม่มีคนกลางเข้ามาช่วยเจรจาต่อรอง ทั้งนี้ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะเปิดตัวโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ ให้ครูไทย” โดยให้ครูทั่วประเทศลงทะเบียนแสดงความจำนงที่จะให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นตัวกลางในการที่จะช่วยครูไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาหนี้สินในมิติต่าง ๆ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. จนถึงวันที่ 14 มี.ค. 2565.