น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงจนผู้ติดเชื้อสูง และกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้การบริหารจัดการควบคุมการระบาดยากขึ้น รวมทั้งวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง ส่งผลให้ภาครัฐต้องล็อกดาวน์ จึงคาดว่าจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ติดลบ 0.8% ถึงติดลบ 2% ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 จะติดลบหรือไม่ เพราะยังไม่นับรวมมาตรการภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นและภาคการส่งออกที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุน

ทั้งนี้การคาดการณ์แบ่งเป็น 2 กรณี โดยกรณีแรกหากภาครัฐมีมาตรการเข้มข้นจนหยุดการระบาดโควิดได้ 40% ผลวิจัยทางการแพทย์ระบุจะควบคุมการระบาดได้และกิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมากลางเดือนส.ค. และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจหายไป 0.8% ส่วนกรณีแย่ แม้มีมาตรการเข้มงวด แต่ประสิทธิภาพการดูแลการแพร่เชื้อไม่ได้มากเพียง 20% ทำให้โควิดอาจกลับมาระบาดได้อีก และการล็อกดาวน์ยาวนานขึ้น กระทบความเชื่อมั่นประชาชนไม่กลับมา ยืดเยื้อยาวถึงสิ้นปี กระทบเศรษฐกิจให้หายไปเพิ่มถึง 2%

“เศรษฐกิจถูกกระทบเยอะ ต้องใช้เวลาในการกลับมา ส่วนโอกาสติดลบนั้น ต้องดูเครื่องยนต์อื่นๆเข้ามาทันหรือไม่ เช่น มาตรการภาครัฐและส่งออก เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่ผลกระทบเศรษฐกิจยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดไว้ จากปัจจุบัน ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัว 1.8%”

ขณะที่ภาครัฐควรปรับเปลี่ยนวิธีโครงการใหม่ ๆ จากเดิมวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่ไม่ได้ใช้แค่ในปี 64 อาจเปลี่ยนมาใช้ให้เร็วขึ้น ส่วนจะต้องกู้เพิ่มหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเงินที่มีใช้ไปกับโครงการที่ถูกที่ถูกทางมากกว่าหรือไม่ ซึ่งสภาพคล่องในระบบเพียงพออยู่แล้ว แต่สภาพคล่องไม่ไปในที่ที่ควรจะไป ดังนั้น การออกแบบมาตรการว่ายากแล้ว การปฏิบัติยากกว่า โดยจะต้องทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งเป็นความสำคัญของธปท.ที่จะทำให้ดีที่สุด

สำหรับเศรษฐกิจในปี 65 ต้องดูสถานการณ์การระบาดโควิด ดูการเปิดทั้งประเทศไทยและต่างชาติ ว่านักท่องเที่ยวมั่นใจเดินทางมากแค่ไหน รวมทั้งนโยบายการคลัง และวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจว่าต่อเนื่องแค่ไหน โดยติดตามความเปราะบางธุรกิจและครัวเรือน ถ้าเปราะบางจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง

ด้านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุด มีแนวโน้มจะยาวและกระทบเป็นวงกว้างกว่าระลอกก่อน ๆ และต้องทำเต็มที่ทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากมาตรการแต่ละด้านมีข้อจำกัด ต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เตรียมช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

“นโยบายการคลัง ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยามที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆอ่อนแรงลง โดยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับลงทุกตัว มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวรุนแรง สำหรับที่ผ่านมา มาตรการทางการเงินเป็นการเสริมความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหรือบรรเทาภาระหนี้ชั่วคราว ซึ่งอาจได้ผลจำกัด รวมทั้งไม่สามารถช่วยได้ครบทุกกลุ่ม โดยปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดรายได้”