เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาเตือนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กลับไปทบทวนและศึกษา 4 สัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ ภายหลังปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมากเพียง 1.6% จากที่ทรุดหนักติดลบตกลงมา -6.2% ในปี 2563 มีรายละเอียดดังนี้

1.ราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นทะลุ 130$ ต่อบาเรล และยังมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอีก จากสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครน ตามที่ตนได้เตือนมาตลอด แต่นายสุพัฒนพงษ์ รองนายกฯและรมว.พลังงาน ทั้งที่เคยทำงานบริษัทพลังงานกลับบอกว่าราคาจะไม่ขึ้นไปกว่านี้ ตอนที่ราคาอยู่ที่ 80$-90$ ต่อบาเรล จึงไม่ได้มีการเตรียมการรับมือ ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนของสินค้าแทบทุกชนิด ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะมีแนวทางรับมือกับราคาน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างไร

2.ราคาสินค้าพุ่งขึ้นสูงเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. พุ่งขึ้นถึง 5.28% หลังจากที่เงินเฟ้อเดือน ม.ค. ขึ้นไป 3.23% และยังมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะสูงเพิ่มขึ้นอีกตามที่ตนได้เตือนไว้แต่แรกแล้วว่าเงินเฟ้อของไทยเพิ่งจะเริ่มต้น (ปีที่แล้วประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อทั้งปีเพียง 1.23%) อัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูงขึ้นมากสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อของไทยจะขึ้นไปตามอัตราเงินเฟ้อของโลกที่สูงขึ้นมากตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเล็กและเป็นเศรษฐกิจเปิดจึงหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อจากต่างประเทศได้ยาก แต่คนไทยรายได้ไม่ได้เพิ่มแถมยังลดลงเพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ไม่เหมือนคนในต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เศรษฐกิจประเทศเขาฟื้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะรับมือกับราคาสินค้าที่แพงแม้กระทั่งไข่ก็ราคาพุ่งอย่างไร เพื่อไม่ให้คนไทยลำบากไปมากกว่านี้

3.อัตราดอกเบี้ยกำลังจะปรับเพิ่มขึ้น จากล่าสุดที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ ออกมาประกาศว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะเป็นไปตามกำหนดการเดิมคือน่าจะขึ้น 0.5% ภายในเดือนนี้ และน่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายหนภายในปีนี้ ซึ่งประเทศไทยอาจต้องถูกบังคับให้ขึ้นดอกเบี้ยตาม มิเช่นนั้นเงินทุนต่างประเทศอาจจะไหลออกได้ แล้วพล.อ.ประยุทธ์ จะรับมือกับเรื่องดอกเบี้ยที่จะขึ้นนี้ได้อย่างไร ในขณะที่แนวโน้มของหนี้เสียทั้งในภาคธุรกิจและในภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอีกมาก

4.ไทยขาดดุลการค้าในเดือน ม.ค. เป็นจำนวนเงินถึง 2,526.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือจ่ายเงินเพื่อการนำเข้ามากกว่าได้เงินจากการส่งออกสาเหตุหลักมาจากการต้องนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงมาก แม้การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมจะขยายได้ถึง 8% ซึ่งตอกย้ำว่าในอดีตตลอด 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถสร้างประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ถูกในการพัฒนาประเทศได้เลย และหากราคาน้ำมันยังขึ้นไปอีกและหากการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร ประเทศไทยจะประสพปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมการขาดดุลทางการคลังที่ขาดดุลมากอยู่แล้ว และยังจะมีปัญหาการเก็บรายได้ที่จะต่ำกว่าประมาณการมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาซ้ำเติมอีก ซ้ำเติมด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมากในการรักษาพยาบาลประชาชนที่ติดไวรัสโควิดกันเป็นจำนวนมากตามที่ได้เคยเตือนล่วงหน้า

“นี่เป็น 4 สัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกันและมาเร็วกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซียยูเครนที่น่าจะยืดเยื้อจะส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทยอีกหลายด้านเป็นเวลาอีกนาน หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังคิดได้แค่จะแก้ตัว แทนที่จะหาทางแก้ไขและรับมือ เช่นควรจะต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐทั้งหมดออก แล้วนำเงินมาช่วยค่าครองชีพของประชาชนก่อน ซึ่งพรรค พท.ได้วางแผนไว้แล้ว หรืออาจจะมัวยุ่งแต่ว่าตนจะรอดผ่านการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ม.151 ของฝ่ายค้านในเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ซึ่งกว่าจะถึงเดือน พ.ค. ความขัดแย้งในฝั่งรัฐบาล และปัญหาเศรษฐกิจจะถาโถมเข้าสู่พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มขึ้นอีกอย่างมากโอกาสรอดคงเป็นไปได้ยากและถึงรอดในสภาก็ไม่รอดจากประชาชนที่กำลังเดือดร้อนกันอย่างหนัก พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะสำนึกเองได้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามารับทำงานในตำแหน่งที่เกินความรู้ความสามารถของตนเองที่มี การบริหารประเทศไม่ได้ง่ายอย่างที่เคยคุยโวไว้ และหากรักประเทศและประชาชนจริงตามที่เคยพูดไว้ ก็ต้องเลิกยึดติดและออกไปได้แล้ว” นายพิชัย กล่าว.