เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 ก.ย.) ที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการแถลงผลการจับกุม 11 ข้าราชการที่ทุจริตต่อหน้าที่ปล่อยเรือปลอม 5 ลำ ที่ถูกจับออกนอกประเทศ หลังจากเมื่อเดือน ธ.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการประมง ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จับกุมเรือประมงปลอม ลูกเรือรวมจำนวน 22 ราย ซึ่งร่วมกันกระทำความผิดกรณีลักลอบเข้ามาในน่านน้ำไทยโดยไม่ได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ มีการปิดบังและเปลี่ยนแปลงชื่อเรือและสัญชาติจากมาเลเซีย เป็นสัญชาติอินโดนีเซีย

ต่อมาศาลได้มีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเรือประมงดังกล่าวไปแล้วจำนวน 3 ลำ โดยสั่งริบเรือประมง และปรับเงินจำนวนกว่า 20 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี

ในส่วนของเรือประมงที่ยึดไว้ทั้ง 5 ลำ ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ กรมศุลกากรจังหวัดสงขลา ได้เข้าสู่กระบวนการประมูลเรือขายทอดตลาดของกรมศุลกากร แต่หลังจากที่เรือประมงทั้ง 5 ลำ ถูกประมูลไปแล้วนั้น กลับฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเจ้าหน้าที่ ลักลอบเดินทางออกไปยังน่านน้ำประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้มีการประสานงานกับทางการมาเลเซียเพื่อให้ช่วยติดตามจับกุมเรือประมงทั้ง 5 ลำ ซึ่งต่อมาทางการมาเลเซียได้ติดตามจับกุมเรือประมงทั้ง 5 ลำไว้ได้ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายของทางการมาเลเซีย

นอกจากนี้ เรือประมงทั้ง 5 ลำ ซึ่งกระทำผิด IUU ได้ถูกประกาศเป็นเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีกำหนดระยะเวลาห้ามใช้เรือประมงทำการประมงเป็นเวลาห้าปี ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร/ผอ.ศพดส.ตร. และ พส.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร. ให้ดำเนินการขยายผลติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มเติมแล้วที่ สภ.สิงหนคร จ.สงขลา และได้มีการขยายผลดำเนินคดีอีก 10 คดี ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 13 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายประเสริฐ สงวนนามสกุล ทำหน้าที่เป็นผู้แทนเรือ (ชิปปิ้ง) ของเรือทั้ง 5 ลำ และประสานงานนำเรือเข้าและออกจากราชอาณาจักร

เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการขยายผลเพิ่มเติมจากกรณีของนายประเสริฐ เกี่ยวกับการลักลอบนำเรือประมงทั้ง 5 ลำ เข้าและออกจากราชอาณาจักร รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของนายประเสริฐ จึงได้ทราบเพิ่มเติมจากนายประเสริฐ ว่า นายประเสริฐ ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน เพื่อดำเนินการเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในขั้นตอนการตรวจเรือเข้าและออกราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการยื่นขอหมายจับเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว จำนวน 11 ราย

โดยทั้ง 11 ราย จะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต โดยพนักงานสอบสวน สภ.สิงหนคร ได้รับมอบตัวผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 11 ราย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ประชาชนและสื่อมวลขน รวมทั้งองค์กรจากต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงสั่งการให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจนถึงที่สุด ซึ่งจากการขยายผลในกรณีที่เรือประมง 5 ลำ ที่ได้ลักลอบเดินทางออกนอกราชอาณาจักโดยผ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน มีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดของผู้ต้องหา จึงต้องมีการดำเนินคดีโดยเด็ดขาดทุกราย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีเหตุลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย เกี่ยวกับการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายในสายตาของนานาประเทศอีกด้วย.