นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (อี เซอร์วิส) ซึ่งเริ่มเก็บตั้งแต่ 1 ก.ย.65 ถึง ม.ค.65 รวม 5 เดือน ได้แล้ว 3,120 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 127 ราย และมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 44,569.83 ล้านบาท โดยผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแยกตามประเภทแพลตฟอร์มและบริการ พบว่ารายได้ของบริการโฆษณาออนไลน์ มีมูลค่าสูงสุด 28,013 ล้านบาท จัดเก็บภาษีได้ 1,960.96 ล้านบาท

ส่วนรองลงมาเป็นบริการขายสินค้าออนไลน์ มีมูลค่า 1,982 ล้านบาท จัดเก็บได้ 838.83 ล้านบาท บริการสมาชิก เพลง หนัง เกม มูลค่า 4,023 ล้านบาท จัดเก็บได้ 281 ล้านบาท บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง มีมูลค่าบริการ 367 ล้านบาท จัดเก็บได้ 25 ล้านบาท และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ มีมูลค่า 182 ล้านบาท จัดเก็บได้ 12.79 ล้านบาท

“ผลจากการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิส ในรอบ 5 เดือน กว่า 3,000 ล้านบาท ทำให้คาดหมายว่าภายใน 1 ปี กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้แต่เดิมว่า จะจัดเก็บได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว ยังส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ด้วยการนำภาษีมาสร้างความเป็นธรรมอีกด้วย”

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรูปแบบที่ถูกเก็บภาษีอีเซอร์วิส มีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ เช่น อเมซอน อีเบย์ 2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล 3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ เช่น จองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน 4.ธุรกิจตัวกลาง อาทิ บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดิลิเวอรี่ ซึ่งการเรียกเก็บค่าจีพีจากร้านค้า และ 5.ธุรกิจที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก บริการดูหนัง ฟังเพลง หรือเกมออนไลน์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ สปอติฟาย เป็นต้น