เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์  ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี ได้รับรายงานจาก นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่าทางแหล่งท่องเที่ยวบ้านกร่างแคมป์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชมเทศกาลดู “ผีเสื้อแก่งกระจาน” ที่ออกมาโบยบินหากินให้ นักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างใกล้ชิด ณ บ้านกร่างแคมป์ ทางขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ในช่วง มี.ค.ถึง พ.ค.ของทุกปี

สำหรับ “ผีเสื้อแก่งกระจาน” มีให้ชมมากกว่า 250 ชนิด จะออกมาให้ชมจำนวนมากอย่างนี้ปีละครั้งในช่วงดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีฝนมากนัก ผีเสื้อเหล่านี้จะไม่ได้ตอมดอกไม้หาน้ำหวาน หากินเกลือแร่และแร่ธาตุต่างๆตามดินโป่งที่พื้นดิน มีมากตามริมลำธารที่ชื้นแฉะ หากมีแสงแดดจัดก็จะดูได้เกือบตลอดวัน

โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือช่วงเช้าไปจนถึงเที่ยง จุดชมผีเสื้อที่บ้านกร่างที่ชมได้ง่ายที่สุดก็คือบริเวณลำธารที่จะข้ามไปยังค่ายเยาวชน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่จอดรถของแคมป์บ้านกร่างไปนิดเดียว เดินไปได้แบบสบายๆ นักท่องเที่ยวจะพบฝูงผีเสื้อออกมาหากินอยู่ที่ริมลำธาร โดยจะเกาะกลุ่มกันเป็นฝูงใหญ่บนพื้นดิน สามารถเข้าไปชมใกล้และถ่ายรูปได้ แต่ระวังอย่าไปเหยียบผีเสื้อ เพราะมีจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นจุดดูนก ดูผีเสื้อ มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าต่างๆได้หลายชนิดกับบรรยากาศที่สงบร่มรื่น สอบถามข้อมูล 0-3277-2311 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 22-26 มี.ค. ทางคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาพะเนินทุ่ง ถึง หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่สะเลียง

โดยวิธีการล่องแพยางเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน ระยะทางประมาณ 35 ก.ม. เพื่อสำรวจร่องรอยสัตว์ป่าและติดตั้งพร้อมเก็บข้อมูลจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า ผลปรากฏว่าได้พบ จระเข้น้ำจืด (Siamese crocodile) สายพันธ์ุไทย 1 ตัว อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น หมาไน กวางป่า นากใหญ่ขนเรียบ เลียงผา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศในพื้นที่ป่ามรดกโลก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่สำรวจและปกป้องผืนป่าแก่งกระจานมรดกโลก เพื่อป้องกันการล่าสัตว์อย่างต่อเนื่องต่อไป