มีความคืบหน้าตามลำดับสำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สนามเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เป็นดัชนีชี้วัดสะท้อนทิศทางการเมืองภาพใหญ่ของประเทศ

ตามปฏิทินเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด วัน ว. เวลา น. เปิดรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ วันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. และเปิดคูหา เลือกตั้ง วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. ตั้งแต่ 08.00-17.00 น.

จากการประเมินศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ จะมีคนเมืองหลวงออกมาใช้สิทธิแบบถล่มทลาย เนื่องด้วยไม่ได้เข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นาน 9 ปีเต็ม!

ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ค. จำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพฯ ตามทะเบียนบ้านมีทั้งหมด 5,523,676 คน ในจำนวนนี้เป็นคนอายุ 18 ปี ขึ้นไปที่มีสิทธิเลือกตั้ง4,374,131 คนและ 16% หรือเกือบ 700,000 คนคือ “นิวโหวตเตอร์” ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก

สำหรับค่าใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้ง กทม.ต้องยึดตาม ประกาศ ผอ.เลือกตั้ง กทม.ที่กำหนดให้คนสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ห้ามใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกิน 49 ล้านบาท

ประเด็นที่เป็นความลักลั่นของระเบียบ กกต.และข้อกฎหมายคือเมื่อไปย้อนตรวจสอบ พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับเงินเดือน เงินเพิ่ม ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มทุกอย่างรวมกัน 113,560 บาทต่อเดือน

เท่ากับหากผู้ว่าฯ กทม. ทำงานครบวาระ 4 ปี จะได้เงินเดือน และเงินเพิ่ม 5,450,880 บาท เทียบไม่ได้กับค่าใช้จ่ายหาเสียงที่ กกต. เปิดให้ใช้เต็มที่ไม่เกิน 49 ล้านบาท

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มีอำนาจหน้าที่ บริหารเมืองหลวง วาระ 4 ปี คุ้มหรือไม่?

คำตอบคือคุ้ม เนื่องด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้ว่าฯ กทม. ยึดโยงกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หมวด 5 มาตรา 89 ที่ให้อำนาจเต็มสองมือบริหารกรุงเทพฯ แบบคลอบจักรวาล มากถึง 27 ภารกิจ

หากมองในแง่เม็ดเงินงบประมาณ ปี 2565 กทม.มีงบประมาณรายจ่ายมหาศาล 79,855 ล้านบาท โดยมีงบกลางที่อยู่ในอำนาจ ผู้ว่าฯ กทม.มากถึง 14,417 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) งบกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 500 ล้านบาท (2) กรณีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับน้ำท่วม 100 ล้านบาท (3) กรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ 550 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรมากที่สุด 5 อันดับ คือ (1) สำนักการระบายน้ำ 7,004 ล้านบาท (2) สำนักสิ่งแวดล้อม 6,845 ล้านบาท (3) สำนักการโยธา 6,455 ล้านบาท (4) สำนักการแพทย์ 4,439 ล้านบาท (5) สำนักการจราจรและขนส่ง 3,871 ล้านบาท เป็นต้น

อำนาจและงบประมาณมหาศาล คือขุมทรัพย์สำคัญที่ทำให้คนดี-เด่น-ดัง ขันอาสาขอทำหน้าที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บริหารเมืองหลวงนามว่า “Krung Thep Maha Nakhon” (Bangkok).

ขุนไพร พิเคราะห์การเมือง