เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “โอกาสพรรคเล็ก หรือโอกาสแลนด์สไลด์ (Landslide)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,314 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในการให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส. ในสภา หรือการเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ (Landslide) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ควรเปิดโอกาส ให้พรรคเล็กได้มี ส.ส. ในสภา แบบเดียวกับการเลือกตั้ง ในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 47.79 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 30.97 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.54 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 5.71 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.99 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ควรทำให้การชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ (Landslide) (ได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งของสภา) เกิดขึ้นได้ยาก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.78 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 26.03 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.82 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 16.21 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 6.16 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนจะเลือกระหว่าง การให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส. ในสภา หรือการเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมือง ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ (Landslide) พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.68 ระบุว่า การให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส. ในสภา รองลงมา ร้อยละ35.46 ระบุว่า การเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ (Landslide) และร้อยละ 5.86 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ