จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาประกาศเตือนสภาพอากาศแปรปรวน อุณภูมิลดลง 2-4 องศาฯ จนส่งผลให้ในหลาย ๆ พื้นที่เกิดอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่หลาย ๆ คนถึงขั้นหยิบเสื้อกันหนาวมาใส่ ทั้งที่ใกล้เทศกาลสงกรานต์ในอีกไม่กี่วันนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ หรืออาจารย์เอ สมาชิกวุฒิสภากรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้แสดงความเห็นถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า “อากาศที่เย็นลงในไทยแบบวูบวาบนี้ สิ่งที่ต้องเร่งดูแล นอกจากคนให้มีที่นอนที่อบอุ่นเพียงพอแล้ว สัตว์เองก็จะประสบปัญหาความหนาวเย็นที่เค้าอาจปรับตัวไม่ทันเช่นกัน” นี่คือผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุด หรือบางจุดมาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้กระแสลมที่เคยพัดวนทวนเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ปกติหมุนพัดที่ความสูง 10 กิโลเมตรจากพื้นดินรอบเขตขั้วโลกมานับล้านปีเกิดสะดุด “กำแพงลมนี้เป็นเสมือนปราการธรรมชาติที่เคยขังไอเย็นไว้ในขั้วโลก บัดนี้เริ่มมีจุดที่มันยืดย้วยออกเป็นห้วง ๆ เพราะไออุ่นจากมหาสมุทรและแผ่นดินทวีปบางย่านที่มากขึ้น ลอยไปกระทบกำแพงลม ทำให้ลมหมุนถูกเบี่ยงเบน อ้อมออกจากเส้นทางเดิม ๆ”

ทีนี้ไอเย็นก็ขยายออกตามลงมา แล้วแต่ว่ารอยยืดนั้นไปเกิดในจุดไหน พอจุดนั้นยืดย้วย ก็จะดันเอาอากาศชุดที่ติดกับมันให้ดันกันต่อไปสู่เขตอื่น แม้แต่เขตอากาศของเส้นศูนย์สูตร ความเยือกเย็นจึงถูกดันมาเป็นทอด ๆ “ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า Polar Vortex”

แม้จะย้วยมาเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ชี้ให้เราตระหนักว่า โลกใบนี้เล็กกว่าที่เราเคยรู้จัก สิ่งที่เกิดกับภาวะโลกร้อน ที่ขั้วโลกเหนือ สะเทือนมาถึงเส้นศูนย์สูตรได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน ในทางกลับกัน กำแพงลมเย็นที่ถูกไออุ่นเบียดให้แคบลงก็แปลว่า จะมีไอร้อนเบียดเข้าหาขั้วโลกเช่นกัน ปีนี้เราคงได้เห็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลตามมา…

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat