จนเกิดกรณีแชตไลน์หลุดพรรคประชาธิปัตย์ที่ “มอลลี่” มัลลิกา บุญมีตระกูล ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และ กรรมการบริการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาสาวไส้แฉยับคนในพรรคเดียวกันเองว่าใครเป็นชู้กับใครบ้าง จนเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่คนในสังคมสนใจใคร่อยากจะรู้ตลอดช่างสัปดาห์ที่ผ่านมา  

หลังเกิดเหตุ “ปริญญ์” แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับโยงว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเองครั้งนี้มีพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลังเพื่อวังผลในทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ  

อย่างไรก็ความปั่นป่วนในพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อล่าสุดในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นร้อนที่ออกมาจากวงประชุมกลับเป็นกระแสกดดันให้ “จุรินทร์” ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบกรณีที่รับปริญญ์เข้ามาดำรงตำแหน่งจนเกิดความเสียหายต่อพรรค รวมทั้ง “มอลลี่ มัลลิกา” ที่ต้องรับผิดชอบกรณีแชตไลน์หลุดจนกระทบภาพลักษณ์ของพรรคทั้งในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสนามเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นต่อจากนี้   

โดยหัวหอกคนสำคัญคือ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์  ที่แสดงความเห็นในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า เนื่องจากพรรคใช้สโลแกน “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ถ้าคนของพรรคมีปัญหา พรรคต้องรับผิดชอบ หัวหน้าพรรคในฐานะที่ผลักดันบุคคลนี้เข้ามา และมีปัญหาเรื่องจริยธรรมแม้จะแถลงขอโทษ แต่หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเท่าที่ควร เช่นนี้สังคมจะเชื่อถือพรรคได้อย่างไร  

ฟากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่ลาออก และตอบได้เพียงว่าไม่ได้นิ่งเฉย ได้แถลงขอโทษและลาออกจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ส่วนกรณีปริญญ์แสดงความรับผิดชอบไปแล้ว ถ้าตนลาออกเป็นการทิ้งปัญหาพรรค  

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดถือเป็นมรสุมทางการเมืองลูกใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์อีกระลอก ที่สำคัญความน่ากังวลในเรื่องการจ้องทำลายประชาธิปัตย์อาจไม่ได้อยู่ที่พรรคหรือฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้าม แต่เกิดจากสนิมเนื้อในตน ซึ่งแกนนำและผู้บริหารพรรคต้องเร่งหาทางออกขัดถูเช็ดล้างทำความสะอาด เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ทางการเมืองของพรรคเก่าแก่อันดับหนึ่งของประเทศให้คืนกลับมา ไม่ใช่นั้นความเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์ทางการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วงก็ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไปหรือไม่.