และอีกเหตุยิ่งใกล้ตัวคนไทย เป็นคนไทย เหตุเกิดที่จังหวัดหนึ่ง…สามีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดหนึ่ง ใช้ปืนยิงภรรยาแล้วยิงตัวเอง เสียชีวิตทั้งคู่ ตามรายงานข่าวมีการระบุถึงสาเหตุว่า เกิดจาก “ป่วยซึมเศร้า??” …ทั้งนี้ จากการเกิด 2 เหตุเศร้าสลดดังกล่าว ก็เป็นอีกครั้งที่ชวนให้น่าตระหนักว่า… “ครอบครัวไทยในยุคนี้เกิดเหตุเศร้าสลดมากขึ้นอย่างน่าตกใจ!!”

เรื่องเศร้าสลดแบบนี้…ก็มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย… เหตุ “ฆ่ากันในครอบครัว” เป็นปรากฏการณ์เก่าเรื่องเก่าและในสังคมไทยยุคนี้ “นับวันดูจะยิ่งแพร่ระบาดทั่วทุกหัวระแหง!!” อย่าง “น่ากลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ!!…” โดยเหตุเศร้าสลดฆ่ากันในครอบครัวในไทยที่ผ่านมาก็มีทั้งแบบ “ญาติฆ่ากัน” “พี่น้องฆ่ากัน” “ผัวเมียฆ่ากัน” หรือแม้แต่ “ลูกฆ่าพ่อ” “ลูกฆ่าแม่” “พ่อฆ่าลูก” “แม่ฆ่าลูก” ก็มีเกิดขึ้น!! ซึ่งหลาย ๆ กรณีมีการระบุถึงสาเหตุว่า เกี่ยวกับ “เมา” “ฤทธิ์สารเสพติด” หรือเกี่ยวกับ “ปัญหาสุขภาพจิต” ขณะที่หลาย ๆ กรณีก็ก้ำกึ่ง หรือไม่ชัดเจนว่า เกี่ยวกับ 2-3 สาเหตุที่ระบุมานี้? และก็มีผู้สันทัดกรณีชี้ไว้ว่า…

“สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม”

นี่ก็ “นำสู่ปัญหาฆ่ากันในครอบครัว” ได้

ที่ผ่านมา “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้นำเสนอเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ซึ่งสำหรับปัญหา “ฆ่ากันในครอบครัว” นั้น จากที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยวิเคราะห์และสะท้อนไว้ มาถึงวันนี้สังคมไทยยิ่งน่าพินิจ ซึ่งโดยสรุปนั้นมีว่า… ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ในยุคนี้ จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่ในไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่ง รศ.นพ.สุริยเดว วิเคราะห์ว่า…ส่วนหนึ่งอาจเกิดมาจากปัจจัยในเรื่องของการที่ผู้คนยุคปัจจุบัน “ละทิ้งความจริงและวิถีธรรมชาติ”

วิถีชีวิตเร่งรีบทำให้ “ไม่ค่อยมีเวลาตั้งสติ”

มัก “ขาดสมาธิ” และ “นอตหลุดได้ง่าย!!”

ปัจจัยต่อมาคือ…สังคมปัจจุบันได้กลายเป็น “สังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม” ผู้คนทั่วไปต่างก็ต้อง ดำรงชีวิตกันแบบปากกัดตีนถีบ เพราะต้องหาเม็ดเงินเข้ามาซัพพอร์ต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ง่ายที่จะ เกิด “ปัญหาครอบครัวพยาธิสภาพ” หรือ “ปัญหาครอบครัวป่วย” ขึ้นในครอบครัวที่เคยเป็นปกติดี ซึ่งครอบครัวที่ป่วยโดยนัยนี้…ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นครอบครัวที่หย่าร้าง ยากจน สมาชิกมีการศึกษาต่ำ กับครอบครัวทั่ว ๆ ไปที่ “โครงสร้างครอบครัวเพี้ยนไป” เป็น ครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ลูกเรียนรู้ชีวิตผ่านการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เหล่านี้เป็น “ปัจจัยเกื้อหนุนการเกิดความรุนแรง” ขึ้นได้

“ความรุนแรงในครอบครัวไทยเกิดมาก”

เกี่ยวโยง “ฆ่ากันในครอบครัว” ที่เกิดถี่!!

และเรื่องนี้ปัญหานี้…กับ “เด็ก-วัยรุ่น” ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกรณีที่ “เป็นผู้ก่อเหตุ” นั้น ผู้สันทัดกรณีด้านปัญหาครอบครัวท่านเดิมก็ได้เคยสะท้อนไว้ว่า… ในส่วนของสมาชิกครอบครัวที่เป็นเด็กวัยรุ่น ลักษณะส่วนตัวของวัยรุ่นนั้นฮอร์โมนเพศจะมีผลต่อสมองส่วนอารมณ์ โดย อารมณ์จะไวต่อสิ่งเร้ามาก มากกว่าอย่างอื่น คือ อารมณ์จะอยู่เหนือความคิด ซึ่งหากว่าเขาเกิด ความคิดที่ขาดจิตสำนึก และยิ่งหากประกอบด้วย ต้นทุนชีวิตเดิมอยู่ในครอบครัวที่ป่วย …ก็อาจทำให้ “ก่อความรุนแรง” ได้ง่าย ๆ

ทางผู้สันทัดกรณียังได้ขยายความในจุดนี้เอาไว้ว่า… อารมณ์ที่ขาดสติ-ขาดจิตสำนึก…มีผลต่อความรุนแรง ทั้งในสังคมนอกครอบครัว และแม้แต่ในครอบครัว โดยที่สิ่งนี้สามารถถ่ายทอดเป็น “รสนิยมความรุนแรง” ผ่านทางยีนได้ด้วย!! ซึ่งชีวิตที่ห่างไกลธรรมชาติ ห่างไกลศาสนา ห่างไกลจากการมีวัฒนธรรม นี่ย่อมไม่ใช่วิถีชีวิตที่ดี ไม่ใช่วิถีชีวิตที่พึงปรารถนา

“ในยุคนี้ ควรจะละวางจากการติดเทคโนโลยี หรือการติดหน้าจอบ้าง หันมาทำอะไรดี ๆ แบบในอดีตบ้าง เช่น เด็ก วัยรุ่น ก็ทำงานบ้านบ้าง ซึ่งนี่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกเห็นใจคนอื่นได้…” ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ระบุไว้ พร้อมบอกไว้ว่า… สมัยก่อนมักเห็นภาพเด็ก ๆ ช่วยผู้ใหญ่ทำสิ่งดีต่าง ๆ หรือนวดให้ผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย แต่ปัจจุบันภาพดี ๆ เช่นนี้หายไป…

ขณะที่ “ภาพปัญหาร้าย ๆ เกิดดาษดื่น!!”

ทั้งนี้ การ “แก้ไข-ป้องกัน” ปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว” นั้น ผู้สันทัดกรณีปัญหาครอบครัวท่านเดิมก็ได้ชี้ไว้ด้วย ซึ่งนับวันยิ่งน่าพินิจ-น่าตระหนัก กล่าวคือ… จะแก้ปัญหานี้ก็ “ต้องแก้ที่ราก” สร้างโอกาสให้ผู้คน เด็ก วัยรุ่น ได้อยู่ร่วมกับสังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ธรรมชาติต่าง ๆ อย่างการได้ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือการได้เลี้ยงสัตว์ ได้ดูแลพืชพรรณ ได้เกิดการร่วมทุกข์ร่วมสุข โอกาสที่ได้ทำเช่นนี้ก็จะช่วยให้ สร้างสายสัมพันธ์ดี ๆ ให้เกิดขึ้น ได้ ช่วยให้ ได้เรียนรู้คุณค่าชีวิต และ ได้สร้างความเอื้ออาทรให้เกิดขึ้นในใจ ขณะที่เรื่องศาสนา พิธีกรรมอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับสังคมยุคนี้ ต้องทำให้ผู้คนได้เข้าถึงหลักธรรมจริง ๆ …ซึ่งเหล่านี้ ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้นอีก และทุกภาคส่วนก็ต้องช่วยกัน

ย้ำว่า “ฆ่ากันในครอบครัวนี่นับวันยิ่งดุ”

ย้ำว่า “แม้แต่เพราะรักก็ทำให้ฆ่ากันได้”

ย้ำว่า “นับวันสังคมไทยยิ่งป่วยโคม่า!!” .