เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 มีใจความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตซึ่งอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 (2) (4) และมาตรา 14 (1) (4) และ (11) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 จึงออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น หมายความรวมถึงการป้องกันหรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและพื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือ นำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและในต่างประเทศ โดยให้อธิการบดีเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ทั้งนี้ อธิการบดีอาจมอบหมายหรือมอบอำนาจ ให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล ทั้งในและต่างประเทศหรือผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยผู้ใดเป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนได้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้การดำเนินการดังกล่าวต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งให้อธิการบดีรายงานการดำเนินการตามข้อบังคับฉบับนี้ให้สภามหาวิทยาลัยทราบเป็นระยะ สำหรับยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆที่จำเป็น ที่มหาวิทยาลัยจัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การบริการทางวิชาการ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558

ประกาศ ณ วันที่ 16 ส.ค. 2564 ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/197/T_0068.PDF