เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรุล เต็งกู อับดุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาเลเซีย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสเหมาะสม ที่รัฐบาลจะต้องทำการทบทวนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายทางด้านนี้

รัฐบาลมาเลเซียจะเน้นแก้ไขปรับปรุง ประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขของประเทศ ดำเนินการตามแนวนโยบาย ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ระหว่างปี 2564–2568

การออกแบบแผนแม่บท สำหรับการดำเนินงานในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะเน้น 3 ส่วนเป็นหลัก ประกอบด้วย การพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของรัฐ ปฏิรูปกฎระเบียบการแพทย์เอกชน และจัดระบบสนับสนุนงบประมาณแบบยั่งยืน

งบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุขโดยรวมของมาเลเซีย ยังคงต่ำกว่า 5% ของจีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ที่จะให้ใกล้เคียงกับเกือบ 10% ของจีดีพี ของ 38 ประเทศสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี

ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษล่าสุด จาก 32,890 ล้านริงกิต (263,680 ล้านบาท) หรือ 4% ของจีดีพี ในปี 2553 เป็น 64,310 ล้านริงกิต (515,575 ล้านบาท) หรือ 4.3% ของจีดีพี ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในระยะ 10 ปี

ทางการกัวลาลัมเปอร์ตั้งเป้าหมาย เพิ่มงบประมาณสาธารณสุข สู่ระดับ 5% ของจีดีพี ภายในปี 2564 ก่อนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแห่งชาติครั้งใหม่ ที่จะประกาศในวันที่ 29 ต.ค.

หนึ่งในทิศทางนโยบายใหม่ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลคือ คิดค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น สำหรับประชาชนกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า และออกมาตรการดึงดูด เพื่อให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพ

 และในแผนการคุ้มครองทางสังคม จะมีการให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่แรงงานนอกระบบด้วย

ระบบสาธารณสุขของรัฐบาลมาเลเซีย ให้บริการเกือบฟรี แก่พลเมืองทุกคน ประมาณ 70% ของประชากรกว่า 32.9 ล้านคนทั่วประเทศ ต้องพึ่งพาระบบสาธารณสุขของรัฐ ซึ่งรัฐใช้เงินอุดหนุนมากถึง 98% ของทั้งระบบ

การระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้ระบบสาธารณสุขมาเลเซียตึงหนัก หลังจากเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการควบคุมการระบาดช่วงแรก เมื่อปีที่แล้ว

การระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อล้นโรงพยาบาลในมาเลเซีย โดยเฉพาะในช่วงระบาดหนักสุด ในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องก่อสร้างโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิ

ซาฟรุลกล่าวว่า ไวรัสโคโรนาตอนนี้ก้าวหน้า จากโรคระบาดทั่วโลกเข้าสู่ขั้นตอนโรคประจำถิ่น  ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจำเป็นต้องปรับปรุงศักยภาพ เพื่อตอบสนองต่อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าโดยผ่านการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ และเพิ่มการเตรียมพร้อมแบบรวมทีมทั่วภูมิภาค แบ่งปันทรัพยากรรับมือการระบาดใหญ่ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยงบประมาณสนับสนุนด้านสาธารณสุข ของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย อยู่ที่ประมาณ 4% ของจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่าครึ่ง ของค่าเฉลี่ยของ 38 ประเทศสมาชิดโออีซีดี ซึ่งอยู่ระหว่าง 10%-12% ของจีดีพี

นอกจากนั้น เอเชียยังจำเป็นต้องลงทุน ก่อตั้งศูนย์ต่อต้านโรคของภูมิภาค รวมทั้งศูนย์พัฒนาวัคซีน และพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจโรคติดต่อได้ดียิ่งขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES