นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์การส่งออกไทยปี 65 ว่า พบว่า ปี 65 มูลค่าการส่งออกไทยจะอยู่ที่ 262,991-275,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 0.2-4.8% จากปี 64 ที่คาดขยายตัวได้ 13.3%

ภายใต้สมมุติฐาน 2 กรณีคือ 1.หากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนระบาดอย่างรุนแรงตลอดปี 65 จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยติดลบ 1.3% ถึงบวก 1.6% (มูลค่า 259,050–266,822 ล้านดอลลาร์)  โดยมีค่ากลางที่ 0.2% มูลค่า 262,991 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้อยู่ที่ 30% เท่านั้น

2.แต่ถ้าโอไมครอนไม่รุนแรงมาก และการระบาดคลี่คลายได้เร็ว มูลค่าส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 3.2-6.3% (มูลค่า 270,952-279,082 ล้านดอลลาร์) ค่ากลางอยู่ที่ 4.8% มูลค่า 275,074 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความเป็นได้มากถึง 70%

นอกจากนี้ปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยปัจจัยบวก ได้แก่ เศรษฐกิจโลก และคู่ค้ายังฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น, ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง คาดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์, การฉีดวัคซีนที่มากขึ้นในแต่ละประเทศ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในตลาดสำคัญ และแนวโน้มความต้องการสินค้าสุขภาพและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือยาง อาหารสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น

ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ การระบาดของโอไมครอน ที่คาดว่า จะทำให้การส่งออกไทยในไตรมาส 1 หรือ 2 ติดลบ 1% ถึงลบ 2% มูลค่าหายไปไตรมาสละ 639-1,279 ล้านดอลลาร์ หรือราว 20,000-40,000 ล้านบาท, ราคาน้ำมัน ที่คาดว่า ปี 65 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปี 64 ที่ 64-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ ที่คาดว่า ปี 65 ไทยยังขาดแคลนตู้อยู่ราว 150,000 ตู้ทีอียู (ขนาด 20 ฟุต) จากปี 64 ที่ขาดแคลน 3600,000 ตู้ทีอียู ส่งผลให้การขนส่งล่าช้า ขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น 

ขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า ปี 65 ค่าระวางตู้ 20 ฟุตจากไทยไปประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอีก 57.2% จากปี 64 หรือเพิ่มจาก 13,000 ดอลลาร์ต่อตู้ เป็น 21,000 ดอลลาร์ต่อตู้ และตู้ 40 ฟุต เพิ่มขึ้นอีก 68.7% มาอยู่ที่ 27,000 ดอลลาร์ต่อตู้ จากปี 64 ที่ 15,700 ดอลลาร์ต่อตู้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น, การสะดุดของซัพพลายเชนจากทั่วโลก เพราะความต้องการวัตถุดิบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่โรงงานผลิต และการขนส่งยังไม่กลับมาเป็นปกติ, เงินเฟ้อและราคาสินค้าทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กระทบกำลังซื้อ และการส่งออกไทย และนโยบายซีโร โควิด ของจีน ที่จะตรวจเข้มสินค้าส่งออกจากทุกประเทศ รวมถึงไทย ทำให้ส่งออกสินค้าไทยไปจีนไม่คล่องตัว  

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ โอไมครอน ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะระบาดรุนแรงเพียงใด, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและพันธมิตร กับจีน, ผลของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.65 ที่แม้จะทำให้การส่งออกไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้าอาร์เซ็ปเพิ่มขึ้นเป็น 15,014 ล้านดอลลาร์

โดยจะขาดดุลจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย บรูไน, รถไฟลาว-จีน ที่แม้ทำให้ตันทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนลดลง 30% และสินค้าไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 1.5% มูลค่า 443.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 14,418 ล้านบาท แต่ก็ทำให้สินค้าจากจีน โดยเฉพาะผัก และผลไม้ และสินค้าราคาถูก เข้ามาตีตลาดสินค้าไทยมากกว่าถึง 627 ล้านดอลลาร์ หรือ 19,963 ล้านบาท และมาตรการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ยุโรป และสหรัฐ เตรียมนำออกมาใช้