ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ หลังจากทีมข่าว “1/4  Special Report” นำเสนอเรื่องราวกรณีหลายภาคส่วนมีความสงสัยเกี่ยวกับการประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในเส้นทางสายเหนือ (เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) ระยะทาง 323 กม. มูลค่าก่อสร้าง 72,920 ล้านบาท และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม) ระยะทาง 355 กม. มูลค่าก่อสร้าง 55,458 ล้านบาท แต่มีการตั้งคำถามกันมากมายในเรื่องของการฮั้วประมูล-ล็อกสเปก-กีดกันผู้รับเหมาขนาดกลาง กันหรือไม่? 

เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน โดยมีนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการ คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงบประมาณ–วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ-สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อหาคำตอบให้กับสังคมโดยเร็วที่สุด

ฝ่ายค้านเล็งไม่ไว้วางใจควรแตกสัญญามากกว่านี้

ทางด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และอดีต รมช.คมนาคม กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าตนในฐานะฝ่ายค้านกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้รับเหมาที่อยากได้งานโครงการสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 2 สายนี้ไปทำ ถ้ามีข้อมูลมากพอและส่อไปในทางทุจริต หรือมีการฮั้วประมูลสมยอมกัน ก็จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคม แต่ถ้าข้อมูลไม่พอ หรือสาวไปไม่ถึง ก็จะส่งให้ชั้นกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

“ผมนั่งรถผ่านโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา เกือบทุกวัน เห็นป้ายก่อสร้างเป็นประจำ จึงรู้ว่าโครงการนี้มี 40 สัญญา สัญญาละไม่กี่พันล้านบาท ด้วยเงินลงทุนทั้งโครงการ 84,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าก่อสร้างประมาณ 77,970 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าเวนคืน แล้วทำไมจึงไม่แบ่งซอยสัญญาโครงการรถไฟทางคู่ 2 สาย ให้มี 40-50 สัญญา ก็ยังได้ เพื่อให้เกิดการประมูลแข่งขันกัน และงานก่อสร้างเสร็จรวดเร็วขึ้น”

งานง่าย “รับเหมาขนาดกลางทำได้!

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า โครงการสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสาน มีระยะทางรวมกัน 678 กม. มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาท ถ้าแบ่งซอยเป็น 40 สัญญา สัญญาละ 2-3 พันล้านบาท เพื่อให้เกิดการแข่งขันประมูล น่าจะได้ราคาที่ถูกลงมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ฉิวเฉียดกับราคากลางที่น่าเกลียดแบบนี้ ผู้รับเหมาขนาดกลาง ๆ จะได้มีงานทำมากขึ้น งานก่อสร้างจะเสร็จเร็วขึ้น เพราะเป็นสัญญาที่ไม่ยาวมากประมาณ 16-17 กม. (40 สัญญา) หรืออาจกำหนดว่าผู้รับเหมา 1 ราย รับงานได้ไม่เกิน 2 สัญญา ถ้าทำแบบนี้ตนคิดว่ารัฐจะได้ประโยชน์ มากกว่า

เนื่องจากงานก่อสร้างทางรถไฟไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูงนัก ส่วนใหญ่เป็นงานสร้างสันทาง งานตอม่อ งานสะพาน ตามจุดตัดต่าง ๆ ในเส้นทางสายเหนืออาจจะมีอุโมงค์ซึ่งยากขึ้นมา ก็อาศัยการร่วมลงทุน-ร่วมค้า (Joint Venture) แต่สายอีสานสภาพพื้นที่น่าจะง่ายกว่า ที่สำคัญคือหน้างานการสร้างทางรถไฟ ทำง่ายกว่าหน้างานสร้างถนนของกรมทางหลวง เพราะหน้างานทางรถไฟไม่ต้องวุ่นวายกับใคร สร้างกันตามทุ่งนา ตามป่าเขา ผู้รับเหมาขนาดกลาง ๆ ทำได้เยอะแยะไป

แต่เมื่อคุณไม่แตกสัญญา ผู้รับเหมาขนาดกลาง ๆ จึงเข้าถึงงานได้ยาก ทั้งที่ควรเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง (International Bidding) คือเปิดกว้างในการประมูลมากกว่านี้ แต่นี่คุณให้แค่ 5 สัญญา ใน 2 โครงการ แล้วมี 5 ผู้รับเหมามาเข้าประมูลได้งานกันครบทั้ง 5 ราย ต้องย้ำว่ามีเพียงผู้รับเหมา 5 รายที่ถือสัญญางานมูลค่า 1.28 แสนล้านบาท หลังจากนั้นทุกอย่างมันง่าย เพราะเป็นงานง่าย ๆ แล้วคุณจะให้คนอื่นเขาคิดอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว

รถไฟสีส้มคาราคาซัง-รถไฟทางคู่มีข้อครหา

ขณะที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยทางด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวดูอย่างไรก็น่าเกลียด รัฐบาลโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง รฟท.และกระทรวงคมนาคม ต้องอธิบายสังคมกันให้เคลียร์ เนื่องจากราคาที่ประมูลกันต่ำกว่าราคากลางเพียงนิดเดียว ทั้งสายเหนือ สายอีสาน ได้ราคาต่ำกว่าราคากลางในสัดส่วนเท่ากันคือ 0.08% มันเป็นไปได้อย่างไร ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีสัญญางานน้อย (5 สัญญา) มันจะคุยหรือตกลงอะไรกันง่ายหรือเปล่า?

ยกตัวอย่างสายอีสานระยะทาง 355 กม. แต่มีแค่ 2 สัญญา แล้วเมื่อไหร่จะก่อสร้างเสร็จ แต่ถ้าแตกเป็น 5-10 สัญญา    จะต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้น ราคาจะถูกลงกว่านี้ งานเสร็จเร็วขึ้นอย่างแน่นอน แต่นี่แหละคือปัญหาของประเทศไทย ทั้งที่ 2 โครงการดังกล่าวควรลงมือก่อสร้างตั้งแต่ปี 56-57 ก่อนมีการรัฐประหาร ซึ่งต้นทุนก่อสร้างถูกกว่าปัจจุบันเป็นหมื่นล้านบาท การประมูลจะโปร่งใสกว่า เรียกว่าเสียทั้งโอกาส เสียเวลา และเสียเงินแพงขึ้น แต่นี่อะไรกันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังมีปัญหาคาราคาซัง มีการฟ้องร้องต่อศาล จนต้องล้มประมูล โดยมีต้นตอมาจากเกรงว่าบริษัทของพวกคุณจะไม่ได้งานไปทำใช่หรือไม่? แต่นี่เอาอีกแล้วรถไฟทางคู่ 2 สาย มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท แต่มีแค่ 5 สัญญา คุณทำเพื่ออะไร?

รฟท.ชี้แจงประเด็นข้อสงสัย

1. กติกาถูกเปลี่ยนก่อนมีการประมูลเกิดขึ้น การกล่าวหาว่ากติกาถูกเปลี่ยนก่อนการประมูลนั้น รฟท.มีการปรับเปลี่ยนการแบ่งสัญญา 6+1    ของซูเปอร์บอร์ด เป็น 3 สัญญารวมการติดตั้งอาณัติสัญญาณตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติรอบแรก เพราะมีประสบการณ์เปรียบเทียบสัญญาใหญ่รวม SNL ในทางคู่เส้นทางสายชุมทางจิระ   กับชุมทางแก่งคอย เป็นโครงการที่มีความสำเร็จเสร็จใกล้เคียงเป้าหมาย ล่าช้าเพียง 6 เดือน จากปัจจัยภายนอก เช่น การเวนคืน และการปรับแบบสถานีบ้านไผ่ที่มีชาวบ้านเรียกร้องมา

ส่วนทางคู่เฟส 1 ทั้ง 3 สายทาง แบ่งแยก SNL พบว่ากำหนดแล้วเสร็จของโครงการจะล่าช้าออกไปมากกว่า 2 ปี เพราะมีความล่าช้าตั้งแต่การประกวดราคา inter bid ของงานระบบอาณัติสัญญาณ และการประสานการทำงาน การส่งต่อข้อมูล การมอบพื้นที่ ระหว่างงานโยธากับ SNL จึงเป็นประสบการณ์ว่าการแบ่งสัญญาใหญ่รวม SNL มีผลกับความสำเร็จในการดำเนินงานมากกว่าการแบ่งเป็นสัญญาย่อย ซึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเกิดการแข่งขันราคาได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งด้วยสถานการณ์ที่ค่าวัสดุเหล็กปรับตัวสูงขึ้นถึง 40% ในการประกวดราคาครั้งนี้

2. การฮั้วราคา-แบ่งงานกัน เป็นเรื่องของการคาดเดา เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ในส่วนของ รฟท.ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบขอบเขตที่มี โดยมีการตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ยื่นข้อเสนออย่างครบถ้วน ในส่วนของการยื่นไม่ยื่น หรือยื่นอย่างไรของผู้รับเหมา รฟท.ไม่อาจรู้ได้ แต่ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนของการประกวดราคา ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัดแล้ว    ซึ่งระบบการประกวดราคาแบบ e-Bidding เป็นระบบที่ได้พัฒนารูปแบบจากการประกวดราคาด้วยวิธีการยื่นซอง เป็นการประกวดราคาแบบ e-Auction จนกระทั่งเป็นการประกวดราคาแบบ e-Bidding ถือว่าเป็นระเบียบที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในปัจจุบันของทางราชการ

3. รฟท. ดำเนินการตามนโยบายไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เป็นการสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทย จึงกำหนดให้ถ้ามีบริษัทที่ยื่นประมูลเป็นคนไทยสามารถยื่นประมูลได้ แต่หากยื่นเป็นกลุ่มผู้นำกลุ่มต้องเป็นคนไทย อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างอุโมงค์ต้องมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้เพิ่มการแข่งขันของงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ กำหนดให้งานอุโมงค์ผู้ที่จะยื่นประมูลสามารถนำผลงานในไทย หรือใช้ผลงานจากต่างประเทศได้ และหากผู้ร่วมประมูลเป็นต่างชาติ สามารถเข้าร่วมกับบริษัทของไทยที่มีผลงานทางรถไฟ

4. รฟท.ยืนยันว่าการดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด ในช่วงเผยแพร่เอกสารประกวดราคา แบบ ราคากลาง และเอกสารอื่น ๆ ทั้งหมด มีการนำลงในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง และ รฟท.ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63  และมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน.