เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ห้องประชุมโกมุท ชั้น 4 อาคารเรียนและปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีนายวิรุจ วิชัยบุญ รอง ผวจ.อุบลราชธานี ร่วมกับรอง ศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แถลงข่าว ค้นพบ “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” ที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย เป็นผึ้งสายพันธ์ุใหม่ของโลก โดยเมื่อ ปี พ.ศ.2561 ขณะที่ อาจารย์ ดร.ประพันธ์ พร้อมด้วยอาจารย์ท่านอื่นในสาขาวิชาชีววิทยาและนักศึกษาผู้ช่วยวิจัย กำลังสำรวจพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย เรื่อง แมงมุมฝาปิดโบราณในบริเวณทางลาดเข้าสู่แก่งกะเลา ก็สังเกตเห็นท่อสีเหลืองๆ ยื่นออกมาจากผาดิน ลักษณะเหมือนเป็นยางไม้ และพบว่ามีผึ้งโผล่หน้าออกมา จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ต่อมาเดินทางกลับไปสำรวจภูจองนายอย อีกครั้ง เพื่อจะให้ได้ตัวผึ้งเป็นๆ กลับมาศึกษาในห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ)

ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เปิดเผยว่าจากการสำรวจของทีมวิจัยจากสาขาวิชาชีววิทยามากกว่า 24 ครั้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยโดยเฉพาะบริเวณพลาญป่าชาด ที่พบผึ้งหลายชนิดมาหากินในเขตนี้นั้น ทีมวิจัยไม่พบผึ้งตามบริเวณดอกไม้แต่พบรังผึ้งเท่านั้น และจากการใช้เวลาตรวจสอบมากกว่า 2 ปี ด้วยการทบทวนเอกสารวิชาการฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาทั่วโลก จึงสรุปได้ว่าผึ้งที่พบที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยนี้ เป็นผึ้งชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน โดยทีมผู้ค้นพบให้ชื่อตามภาษาไทยว่า “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง”  ซึ่งผึ้งหยาดอำพันภูจอง (phuchongensis)  คำว่า “phuchong-” มาจากชื่ออุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี ที่เป็นสถานที่พบผึ้งชนิดนี้เป็นครั้งแรก ส่วน “-ensis” เป็น suffix ภาษาละติน หมายถึง “originating in”

อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ ให้เหตุผลถึงการตั้งชื่อนี้ว่า “การตั้งชื่อสัตว์สายพันธุ์ใหม่เราควรให้เกียรติสถานที่ที่เขาอยู่อาศัย และลักษณะเด่นเฉพาะที่งดงามของเขาจะทำให้คนสนใจในสถานที่ที่ค้นพบและต่อยอดเศรษฐกิจในพื้นที่จะดีกว่าครับ ผมหรือนักวิจัยเป็นเพียงคนที่เอาเขามานำเสนอผึ้งเขามีอยู่ของเขาตรงนั้นอยู่แล้ว” ผึ้งหยาดอำพันภูจอง จัดอยู่ในสกุล Anthidiellum สกุลย่อย Ranthidiellum ซึ่งเป็นกลุ่มของผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้าเพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และมีการค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบทั้งหมดเป็นเพียงการพบเจอตัวผึ้ง โดยไม่ทราบแง่มุมทางชีววิทยาใด ๆ เลย ซึ่งมีการพบรังของผึ้งกลุ่มนี้ว่า มีการสร้างท่อยางไม้เป็นปากทางเข้ารังเพียงครั้งเดียวเท่านั้นจากประเทศมาเลเซีย สำหรับประเทศไทย มีการพบผึ้งกลุ่มนี้ 2 ชนิด ผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงจัดเป็นชนิดที่ 5 ของกลุ่มนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงความหายากของผึ้งกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

สำหรับ ผึ้งหยาดอำพันภูจอง มีลักษณะอาศัยอยู่ในรังบนผาดิน จะใช้ยางไม้ในการสร้างรังและปากทางเข้ารังโดยเฉพาะยางต้นเหียง หรือยางเหียง ที่ขึ้นในป่าเต็งรัง มีมากในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ตอนที่ทีมวิจัยเจอรังผึ้ง เป็นช่วงที่แสงแดดส่องกระทบรังผึ้งมีสีเหลืองอำพันระยิบระยับ เพศเมียจะมีเหล็กใน (sting) ใช้สำหรับป้องกันตัว ซึ่งมีพิษอยู่เล็กน้อย สามารถต่อยได้หลายครั้งต่างจากผึ้งพันธุ์ที่ให้น้ำหวานที่จะต่อยครั้งเดียวแล้วผึ้งจะตายไปเนื่องจากสลัดเหล็กในออกไม่ได้ ปกติผึ้งหยาดอำพันภูจองจะไม่ต่อยคนหากไม่ถูกรบกวนมากจนเกินไป ขณะที่เพศผู้หลังจากออกจากดักแด้ จะมีบทบาทเฉพาะการสืบพันธุ์กับเพศเมียจากนั้นก็จะตายไป

ในรัง ๆ หนึ่งของผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงมีเฉพาะผึ้งเพศเมียเพียงตัวเดียว ที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่สร้างรัง วางไข่ และออกหาอาหารให้กับลูก ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phujong resinbee) หรือ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และพบได้เพียงที่เดียวเท่านั้นบนโลกนี้